ชะตากรรมของซาอุดิอาระเบีย ภายใต้นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐ



ในบรรดาประเทศในตะวันออกกลางนั้น ถ้าหากจะนับประเทศที่เป็นมหาอำนาจด้วยกันแล้วก็ต้องถือว่าอิหร่านและซาอุดิอาระเบียคือสองมหาอำนาจตัวจริง เป็นแต่ต่างเผ่า ต่างสายเลือด และต่างลัทธิ ศาสนา

โดยอิหร่านนั้นก็คือชาวเปอร์เซียในอดีตที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมมากว่า 5,000 ปี และตั้งหลักปักฐานมั่นคงอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าเมโสโปเตเมียในอดีต และนับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการนำของมุสลิมชีอะห์ทั่วโลกด้วย

ส่วนซาอุดิอาระเบียนั้นเป็นหัวเรือใหญ่ของพวกอาหรับ ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และที่ 2 แล้วได้มีการแบ่งประเทศเขตแดนชาวอาหรับออกเป็นหลายประเทศ แต่ก็ยังคงรวมตัวกันภายใต้ชื่อสันนิบาตอาหรับ โดยมีซาอุดิอาระเบียเป็นหัวเรือใหญ่ และเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม นิกายวาฮาบี

สำหรับตุรกีนั้นแม้อยู่ใกล้ชิดติดกับตะวันออกกลางแต่ก็คาบเกี่ยวกับทางยุโรปอยู่มาก ทั้งเชื้อชาติ ชนชาติ ก็แปลกแยกออกไป คือเป็นพวกเติร์กซึ่งเคยมีความรุ่งเรืองมาแต่ก่อน โดยในสมัยออตโตมันก็เป็นเจ้าใหญ่ในย่านนี้มาแล้วเช่นเดียวกัน

ส่วนอียิปต์นั้นไม่จัดเป็นประเทศในตะวันออกกลาง เพราะข้ามฟากไปทางทวีปอาฟริกา แต่มีความใกล้ชิดติดพันกับยุโรปและตะวันออกกลางมาแต่โบราณ ทั้งเป็นอารยธรรมที่รุ่งเรือง ดังนั้นเมื่อเกิดสงครามภายในศาสนาอิลามกันเองในราวฮิซเลาะห์ศักราชที่ 200 แล้ว ทั้งอียิปต์ก็เรืองอำนาจและเสื่อมสลายไปเป็นระยะ ๆ แต่ในที่สุดอียิปต์ก็กลายเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลาม นิกายซุนหนี่

ดังนั้นถ้าหากจะนับความเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลามของโลกก็ถือได้ว่ามีอยู่สามศูนย์ คืออิหร่านซึ่งเป็นศูนย์กลางของนิกายชีอะห์ ซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นศูนย์กลางของนิกายวาฮาบี และอียิปต์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของนิกายซุนหนี่

หลังสงครามหกวันระหว่างกลุ่มอาหรับกับอิสราเอลเมื่อหลายสิบปีก่อน อียิปต์พ่ายแพ้สงครามและอ่อนแอลง จนกระทั่งกลายเป็นประเทศที่แทบจะยืนบนขาตัวเองไม่ได้ ดังนั้นอิทธิพลของอียิปต์จึงลดลงโดยลำดับ แม้กระทั่งความเป็นศูนย์กลางทางศาสนานิกายซุนหนี่ก็อ่อนตัวลง

ในขณะที่อิหร่านและซาอุดิอาระเบียเติบใหญ่ขึ้นโดยลำดับ โดยการเติบใหญ่ของสองชาตินี้แตกต่างกันมาก อาจจะเรียกว่าตรงกันข้ามกันก็ได้

อิหร่านเติบโตขึ้นบนขาของตนเองเป็นหลัก และกลายเป็นประเทศที่ใช้หลักศาสนาเป็นหลักปกครองของบ้านเมืองเต็มรูปแบบ ตั้งแต่หลังท่านอิหม่ามโคมัยนี่ได้ทำการปฏิวัติอิสลามขึ้นในอิหร่านแล้ว จากนั้นอิหร่านก็มีความมั่งคั่งและมีความเข้มแข็งทางแสนยานุภาพขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งเป็นมหาอำนาจตัวจริงของตะวันออกกลาง และในปัจจุบันนี้ก็เข้าสังกัดกลุ่มองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ ที่มีจีนและรัสเซียเป็นหัวเรือใหญ่แล้ว

ส่วนซาอุดิอาระเบียนั้นเติบใหญ่ขึ้นด้วยการขายน้ำมันที่ร่วมมือกับสหรัฐ อังกฤษ โดยมีอิสราเอลชักใยอยู่ข้างหลัง และกลายเป็นประเทศหลักของกลุ่มโอเปกที่บางยุคบางสมัยมีบทบาทในการควบคุมราคาพลังงานของโลกด้วย แต่ซาอุดิอาระเบียนั้นถึงจะเติบโตก็ยังคงอาศัยจมูกสหรัฐหายใจเป็นหลัก

และเมื่ออาศัยจมูกสหรัฐหายใจ ก็ต้องอยู่ภายใต้นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐด้วย และเป็นแหล่งเงินสำคัญให้กับสหรัฐด้วย แสนยานุภาพและการทหารทั้งหมดทั้งสิ้นของซาอุดิอาระเบียล้วนพึ่งพาอาศัยสหรัฐ

พึ่งพากันจนถึงขนาดที่ว่ายืนบนขาตัวเองไม่ได้ ดังที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เอาความจริงมาเปิดเผยต่อชาวโลกให้ได้รู้กันว่า ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของอำนาจรัฐปัจจุบันนี้จะอยู่ได้เพียงไม่เกินสองสัปดาห์ ถ้าหากสหรัฐไม่ปกป้องคุ้มครองให้

ความหมายที่แท้จริงก็คือ ซาอุดิอาระเบียจะต้องจ่ายค่าคุ้มครองในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับสหรัฐ ซึ่งไม่ต่างอันใดกับการเป็นรัฐในอารักขา และเพราะเหตุนี้ซาอุดิอาระเบียจึงต้องเชื่อฟังอิสราเอลด้วย กระทั่งยอมแตกคอกับประเทศอิสลามจำนวนมากในโลกเพื่อเป็นมิตรกับอิสราเอล ตามความปรารถนาของผู้อารักขา

เพียงเท่านี้สถานการณ์ของซาอุดิอาระเบียก็หนักหนาสาหัสเต็มที แต่ที่หนักกว่านั้นยังมีอีกสองเรื่อง

เรื่องแรก คือการหลงเชื่อคำยุยงของต่างชาติเข้าทำนอง “ให้เห็นขี้ดีกว่าไส้” กระทำการเป็นศัตรูกันในหมู่ราชวงศ์ แล้วฆ่าฟันล้างผลาญกันต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว จนกระทั่งศัตรูของเชื้อพระวงศ์ซาอุดิอาระเบียที่แท้จริงในวันนี้ไม่ใช่ศัตรูต่างชาติที่ไหน แต่เป็นศัตรูเชื้อพระวงศ์ด้วยกันเอง ที่ไม่รู้ว่าในที่สุดใครจะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะ

เรื่องที่สอง คือการหลงคำยุยงของต่างชาติให้ทะเลาะเบาะแว้งตั้งตัวเป็นศัตรูกับประเทศอิสลามด้วยกัน จนมีศัตรูเต็มไปหมด ไม่ว่าอิหร่าน อิรัก ซีเรีย กาตาร์ เยเมน และล่าสุดก็คือคูเวต การที่ประเทศหนึ่งมีศัตรูมากมายเช่นนี้ จึงทำให้ความไม่มีเสถียรภาพและความไร้ความมั่นคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์เยี่ยงนี้ก็ไม่ต่างกับการชักม้าไปยืนอยู่ริมหน้าผา อีกไม่นานคงจะได้เห็นว่าจะขี่ม้ากระโจนลงไปทางหน้าผา หรือว่าจะชักม้าหันหลังกลับ แต่ไม่ว่าจะไปทางไหนก็บอกแนวโน้มของตะวันออกกลางได้ว่าสันติภาพและการพัฒนากำลังก่อตัวขึ้นในดินแดนแห่งนั้นแล้ว

ไพศาล พืชมงคล
ชะตากรรมของซาอุดิอาระเบีย ภายใต้นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐ ชะตากรรมของซาอุดิอาระเบีย ภายใต้นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐ Reviewed by admin on 8:36 PM Rating: 5

No comments