ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้นตอความแตกแยกในสังคมไทย


วานนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศข่าวดี ว่าบริษัทในตลาด 567 บริษัท มีกำไรในปี 2559 รวมกัน 909,000 ล้านบาท เพิ่มจากกำไรปี 2558 ถึง 30.41% ทั้งๆที่ยอดขาย 10.125ล้านล้านบาทนั้น ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย ซึ่งฟังดูน่าจะเป็นข่าวดี โดยเฉพาะสำหรับชาวหุ้น นักลงทุนทั้งไทยทั้งเทศ

แต่สำหรับผม เห็นตัวเลขนี้ถึงกับสะดุ้งด้วยความกังวล ความเป็นห่วงถึงปัญหาที่ใหญ่หลวงกว่า ปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นพื้นฐานต้นตอที่สำคัญที่สุดของความแตกแยกในสังคมไทย ทั้งที่มีมาในอดีต และที่จะเป็นไปในอนาคต นั่นก็คือ "ความเหลื่อมล้ำ"

ซึ่งถ้าพูดถึงความเหลื่อมล้ำ แล้วไปดูตัวเลขทางวิชาการประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ได้แย่มาก อย่างค่าสัมประสิทธิ์ GINI ก็อยู่ที่ 39.2 เมื่อปี 2012 แย่เป็นอันดับที่ 73 จาก 154 ประเทศ แถมดูเหมือนจะดีขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยสูงถึง 48 เมื่อปี 1992 (ค่า GINI Coefficient นี้เป็นมาตรฐานวัดความเหลื่อมล้ำ มาตร 0-100 ถ้า 0 แปลว่าทุกคนมีรายได้เท่ากันหมด ถ้า 100 แปลว่าคนๆเดียวมีรายได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นสูงไม่ดี ตำ่ดี ประเทศที่ห่วยสุดคืออาฟริกาใต้ได้ 63 ส่วนที่ดีสุดจะเป็นยูเครน สโลเวเนีย นอร์เวย์ ประมาณ 25 ) ส่วนอีกตัวเลขหนึ่งที่ใช้วัดกันก็คือเอารายได้คน 10% แรกหารด้วย 10% สุดท้าย ของเราก็อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า ซึ่งก็คงที่มากว่ายี่สิบปีแล้ว ซึ่งถ้าใช้ตัวเลขพวกนี้วัดเราก็ไม่ได้เลวลง แถมดีกว่าหลายๆประเทศแถวนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เลยทำให้เราค่อนข้างละเลยถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่งมาตลอด มุ่งแต่จะให้เติบโต แล้วหวังเอาว่าพอโตแล้วจะเกิดการไหลลงให้คนมั่งมีกันทั่วหน้า

ทีนี้ ที่เมืองไทยมีปัญหาจนนำไปสู่ความแตกแยก ผมคิดว่ามาจากสองสาเหตุ
...อันแรกมันเป็นเรื่องการขยายของเมือง จากเดิมคนจนมักอยู่ในชนบท ลูกหลานที่เข้ามาหางานทำในเมืองก็มักจะเพื่อส่งเงินไปเจือจานครอบครัว แต่เดี๋ยวนี้คนจนเมืองเพิ่มขึ้นมหาศาล พ่อแม่ส่งมาเรียน จบแล้วก็ไม่กลับหางานทำได้รายได้ตำ่ไม่พอใช้ต้องกู้หนี้ยืมสิน แถมหลายคนยังต้องให้พ่อแม่ส่งเงินให้ซะอีก
...และปัญหาใหญ่อีกอันนึงก็คือเศรษฐกิจเราดันหยุดโต ตั้งแต่หลังวิกฤติการเติบโตลดลงเรื่อยๆ จากเคยโต 9% มาสามสิบห้าปีก่อนวิกฤติ มาเหลือ 5% ยุคทักษิณ+สุรยุทธ แต่มา 8 ปีหลังโตเฉลี่ยไม่ถึง 3% แถมมีติดลบตั้งสามปี ซึ่งการโตตำ่ขนาดนี้ขณะที่เรายังมีรายได้ต่อหัวแค่ครึ่งเดียวของเป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาย่อมทำให้เกิดปัญหาการกระจาย เพราะเศรษฐีกะคนชั้นกลางเค้าไม่ยอมโตตำ่ไปด้วย คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยและมีโอกาสน้อยย่อมยากที่จะเข้าถึงส่วนแบ่งของการเติบโต

ตัวเลขการขยายตัวอย่างมโหฬารของ Corporate Profit ที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศเมื่อวานนี้ สะท้อนความกังวลที่ผมว่าไว้เป็นอย่างดี ...คือใน GDP ด้านรายได้(Income Side) นั้น จะประกอบด้วย
เงินเดือนค่าจ้าง(Wage) + ค่าเช่า(Rental) + ดอกเบี้ย(Interest) + กำไร(Profit) + กิจกรรมอื่นๆนอกระบบ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากำไรนั้นเป็นส่วนไม่เล็กเลย 

ไทยมี GDP ปีละ 14 ล้านๆบาท บริษัทในตลาดมีกำไร 900,000ล้าน ถ้ารวมกับนอกตลาดจะมีกำไรรวมไม่น้อยกว่า 3ล้านๆบาท (ประมาณจากการเก็บภาษี) ซึ่งรวมกำไร(เฉพาะในระบบที่เสียภาษี ไม่นับนอกระบบและที่หนีภาษี) คิดเป็นประมาณ 25 % ของ GDP ...แล้วกำไรในตลาดโต 30.4% สมมุติว่านอกตลาดโตน้อยกว่าโดยโตรวมสัก 15%(ประมาณแบบอนุรักษ์) แค่นี้ก็คำนวณได้แล้วนะครับว่าส่งผลอย่างไร

GDP Nominal ของไทยในปีที่แล้วโตแค่ 4%(Real GDPโต 3.2% บวกด้วยเงินเฟ้อและตัวปรับอื่น) แต่ Corporate Profit ซึ่งมีส่วนอยู่ 25% ดันโตเสีย 15% เด็กประถมก็คำนวณได้ว่า ส่วนที่เหลือ75% จะติดลบถึง 2% ...ทีนี้ลองไปดูในส่วนที่ติดลบ ค่าเช่า และดอกเบี้ยไม่น่าจะติดลบ ผมไม่เคยได้ยินว่ามีการลดค่าเช่า มีแต่ขึ้น แถมมีของให้เช่าเยอะขึ้น

...ยอดเงินออมก็เพิ่มอัตราดอกเบี้ยปีที่แล้วก็ไม่ได้ลด สรุปว่าทั้งกำไรกิจการ ทั้งค่าเช่า ทั้งดอกเบี้ย ซึ่งเป็นของคนรวยหมดเลยมีแต่เพิ่มกับคงที่
...แล้วไอ้ที่ลดเป็นของใครล่ะครับ คนมีรายได้น้อยทั่วไป คนรับเงินเดือน เกษตรกร คนทำงานนอกระบบ แต่คนรับเงินเดือนอาจยังไม่ถูกลดนอกจากจะถูกเลิกจ้าง แถมถ้าเป็นข้าราชการ พนักงานราชการและรัฐวิสาหกิจกลับได้เพิ่มเยอะซะอีก ...ที่นี้เราก็เลยหาตัวเหล่าคนโชคร้ายที่รายได้ลดได้แล้ว ...ก็พวกเสื้อแดงไงล่ะครับ แหะๆ ...สรุปว่าชาวบ้านร้านตลาด เกษตรกร คนรายได้น้อย คนทำงานนอกระบบ พวกที่จนอยู่แล้วกลับมีรายได้ลดลง

นี่แหละครับ เราประกาศก้องว่าจะต้องพัฒนาแบบ "Inclusive Growth" จะเติบโตไปด้วยกัน จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ผลที่ออกมันยังขัดกับที่ตั้งใจอย่างมาก คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้น ขณะที่คนจนกลับรายได้ลด จากรายงาน Global Wealth Report 2016 ของ Credit Suisse ก็ให้เกียรติไทยได้ขึ้นโพเดียม ว่าเป็นหนึ่งในแค่สามประเทศในโลก ที่คน 1% ครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 50% ของประเทศ โดย 680,000คนไทยมีทรัพย์สิน 58.0% ตามหลังแค่รัสเซีย(74.5%) และอินเดีย(58.4%) ขนาดอเมริกาที่ขึ้นชื่อว่าเหลื่อมล้ำเพิ่มจนคนบ้าชนะเลือกตั้งยังตามมาห่างๆในอันดับ 7(42.1%) ถ้าไปแบบนี้เรื่อยๆปีหน้าเราก็คงแซงอินเดียได้ และไม่กี่ปีพี่ปูตินก็อาจจะเสร็จเรา

ความจริงคนอย่างผม ซึ่งรวมอยู่ในหกแสนกว่าคนนั้นก็ไม่ควรจะเดือดร้อนอะไร หุ้นที่ถือกำไรเพิ่มก็รวยขึ้นทุกวัน แต่ที่กังวลก็เพราะกลัวว่า ถ้าพื้นฐานเรื่องนี้ไม่แก้ไข ความเหลื่อมล้ำไม่ลด ความปรองดองก็คงไม่มา สังคมคงยากที่จะสงบสุข จะมีเงินแค่ไหน ถ้าอยู่ในสังคมที่วุ่นวายก็ยากที่จะมีความสุขไปได้ นอกจากจะอพยพหนีไปเมืองอื่น ซึ่งนั่นคงเป็นทางเลือกสุดท้ายของคนไทยทุกคน

มาดูสิ่งที่เขาพยายามทำกันอยู่ อย่างโครงการสานพลังประชารัฐที่ดูเหมือนว่าตั้งใจจะช่วยให้ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังตามที่ประกาศตอนให้สัมภาษณ์ทุกครั้ง แต่ผลระยะสั้นมันยังตรงข้ามกันอยู่ มีแต่คนที่ไปทำไปร่วมเป็นกรรมการที่ล้วนแต่เป็นเจ้าของเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆเท่านั้นที่กำไรเพิ่มกระฉูด หวังว่าชาวบ้านจะได้แบ่งบ้างในระยะต่อไปนะครับ ...หรืออย่างแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะออกมา ก็หวังว่าจะมุ่งเน้นการกระจายให้มากกว่าจะแค่ขยายขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ กับจะเน้นอุตสาหกรรมใหม่ๆให้บรรดาเจ้าสัวได้ร่าเริงกัน

การที่บริษัทจะกำไรเพิ่มมากไม่ใช่เรื่องไม่ดีหรอกนะครับ โดยเฉพาะถ้ากำไรที่เพิ่มเป็นธุรกิจที่ทำนอกประเทศยิ่งดีใหญ่ แต่กำไรของบริษัทในตลาดไทยกว่า 95% ได้มาจากการประกอบธุรกิจในประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการไปเบียดบังจากภาคส่วนอื่นๆอย่างที่บอก

ถามว่าได้แต่บ่นๆ แล้วควรจะทำอย่างไร ผมคงมีภูมิตอบได้ไม่หมดหรอกครับ มีเรื่องที่ต้องทำต้องแก้หลายร้อยหลายพันเรื่อง แต่ที่สำคัญต้องตั้งเป้าให้ชัดเจน ต้องให้ความสำคัญเรื่องแก้เหลื่อมล้ำนี้อย่างสูงสุดในเป้าหมายนโยบาย แล้วสร้างนโยบายให้สอดคล้องกับเป้า อย่างสามเรื่องที่ผมพยายามเข้าไปช่วยทำมาสองปีครึ่ง แก้รัฐวิสาหกิจ ลดกฎหมาย ป้องกันคอร์รัปชั่น ผลสุดท้ายก็จะช่วยลดเหลื่อมล้ำได้ด้วย ประกอบกับเรื่องอื่นๆ เช่น การศึกษา การเพิ่มผลิตภาพ การกระจายอำนาจ กระจายโอกาส ...ปัญหาใหญ่และหมักหมมมายาวนานอย่างนี้ ไม่มีทางแก้ได้ง่ายๆหรอกครับ ต้องทำพร้อมๆกันทุกเรื่องอย่างเป็นบูรณาการ

บ่นไปบ่นมา นึกขึ้นได้ว่า กำไรของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรที่ผมร่วมบริหารอยู่ ปี 2559 ปาเข้าไป 5,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนตั้ง 67% แถมรายได้ทุกบาททุกสตางค์เป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งสิ้น ...นี่แหละครับ ห่วงก็ห่วง กังวลก็กังวล แต่หน้าที่ก็ต้องทำไป ชีวิตคนมันก็สับสนอย่างนี้แหละครับ แต่ยืนยันได้ว่าประกอบอาชีพสุจริตตลอดมานะครับ และถ้าทุกคนเติบโตเพิ่มผลิตภาพได้อย่างนี้ ประเทศไทยจะไม่ได้โตแค่ 3.2% แน่นอนครับ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้นตอความแตกแยกในสังคมไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้นตอความแตกแยกในสังคมไทย Reviewed by admin on 3:01 AM Rating: 5

No comments