5 ปีพลิกวิกฤตลงทุน ถ้าไม่มีอีอีซีจะเอาอะไรไปสู้กับเวียดนาม รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์




“ถ้าไม่มีอีอีซีจะเอาอะไรไปสู้กับเวียดนาม” เป็นหนึ่งประโยคเด็ดจากหลายประโยคไฮไลท์การชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาของ ‘ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อคืนวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกจับตา เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่และมีมูลค่าการลงทุนสูง แต่เหตุที่ต้องเดินหน้าโครงการนี้เพราะวันนี้เวียดนามมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเด่นๆ อย่างน้อย 3 แห่ง ที่เมืองโฮจิมินห์ ดานัง และฮานอย

ประเทศไทยมีอะไร


ค่าแรงแพงกว่าเขาครึ่งหนึ่ง ฉะนั้นอีอีซีถึงเกิดขึ้นมา เพื่อพยายามทำให้เป็นเบ้าหลอมการนำเข้า-ส่งออก เป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีมูลค่า เป็นฮับของภูมิภาคนี้ จริงอยู่โครงการเหล่านี้ต้องอาศัยเงิน เราก็พยายามคิดว่าจะเซฟงบประมาณได้ยังไง เซฟการกู้ได้ยังไง

จึงออก ‘ฟิวเจอร์ฟันด์ อินฟราฟันด์’ สำเร็จไปแล้ว 1 โครงการ เซฟเงินรัฐบาล 5 หมื่นล้านบาท เราเน้นการลงทุนแบบ PPP เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน เซฟเงินรัฐบาลได้อีก อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเลย เอกชนหาพวกมาสู้กัน ประมูลแข่งกัน

สิ่งเหล่านี้จะบอกว่าเฉพาะแค่ 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา–ระยอง–ชลบุรี) ได้ประโยชน์ได้ยังไง เพราะเมื่อมีอีอีซี อุตสาหกรรมใหม่ก็เกิดขึ้นที่นั่น แต่หลักการคือ ต้องไม่สร้างมลพิษในพื้นที่ ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย ค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นอาจจะมีปัญหาบ้าง ก็ต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยที่สุดวันนี้ 5 โครงการใหญ่คือ แหลมฉบัง มาบตาพุด รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา 4 โครงการเดินหน้าแล้ว เหลือแค่ศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่ยังไม่เดินหน้า ซึ่งก็ต้องเร่ง ฉะนั้นอีอีซีต้องเกิดเพราะว่าสร้างจุดขายใหม่ให้ประเทศไทย สร้างแรงดึงดูดการลงทุน

5 ปีพลิกวิกฤตลงทุน


ดร.สมคิดยังกล่าวถึงภาพรวมการลงทุนตลอด 5 ปีที่ผ่านมาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านบอกว่าภาพรวมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาไม่ดีว่า

“ผมเรียนท่านอย่างหนึ่งว่าการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่ของง่าย ท่านบอกว่าสิ่งสำคัญคือ

1. เรื่องนโยบาย 
2. คนที่จะขับเคลื่อน

แต่จริงๆ แล้วปัญหาเมืองไทยมากกว่าแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงโอกาสที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นก็ไม่ง่าย ตอนผมอยู่พรรรคไทยรักไทย 6 ปี ก็ไม่ใช่ของง่าย เพราะเข้ามาบริหารภายหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เราใช้เวลา 4 ปีจาก 6 ปีที่ผมอยู่ตอนนั้น กว่าจะฟื้นฟูช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งมาได้ และรัฐบาลสมัยนั้นก็ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น

แต่โอกาสในการขับเคลื่อนยากมาก เพราะว่าการขับเคลื่อนต้องมี นโยบายระยะยาว มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จึงจะยั่งยืนได้ แต่การเมืองระบบรัฐสภาของเราแป๊บเดียวก็เลือกตั้ง แป๊บเดียวรัฐบาลก็ล่ม ฉะนั้นนโยบายส่วนใหญ่จึงค่อนข้างจะเป็นระยะสั้น เพื่อเรียกร้องคะแนนนิยม โอกาสจะทำหลายสิ่งหลายอย่างยากมาก ฉะนั้นใน 6 ปีที่เสียไป ทำได้อย่างเก่งคือฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง

ผมหายไป 10 ปี กลับมาอีกครั้งเพราะนายกฯประยุทธ์ให้มาช่วยเป็นที่ปรึกษาท่าน ผมก็เรียนกับท่านว่าเศรษฐกิจ (ขณะนั้น) ไม่ดี ถ้าเป็นชีพจรก็เต้นแผ่ว ไม่แผ่วได้ยังไง ในเมื่อยุคก่อนหน้าที่ คสช.จะเข้ามาบ้านเมืองจราจลวุ่นวาย ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ ความเสียหายมหาศาล เราไม่โทษใคร ถือว่าเป็นโชคร้ายของประเทศไทย หลังจากน้ำท่วมใหญ่ 1 ปี จีดีพีหล่นจาก 7.2% ลงมาเหลือแค่ 2.7 ลงมาเหลือแค่ 1 และติดลบ 0.4 ในไตรมาส 1 ปี 57 ก่อนที่ คสช.จะเข้ามา เงินเฟ้อต่ำกว่า 0 ความมั่นใจทั้งหลายไม่มีเหลือ นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงเมืองไทยเพราะเกิดความไม่ปลอดภัย การส่งออกหดตัวเหลือ 3% บ้าง 2% บ้าง เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่จะแก้กันได้ง่ายๆ

ในเรื่องของการลงทุนมีน้อยมากเพราะว่าใครจะมาลงทุนในขณะนั้น ความปลอดภัยไม่มี เศรษฐกิจถดถอยสับสนวุ่นวายมาก ท่านลองนึกสภาพในวันนั้นว่าเมืองไทยมีอนาคตหรือไม่ ตัวเลขการลงทุนปีแรกที่ คสช.เข้ามามีเงินลงทุนเข้ามาขอแอพพลายแค่ 2 แสนล้าน วันนี้ล่าสุด 8.8 แสนล้านบาท ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเกือบ 3 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้ยืนยันกับบีโอไอได้เลย เป็นเงินที่เข้ามาลงทุนในอีอีซีเยอะมาก ฉะนั้นอีอีซีเป็นผลพวงให้เราดึงดูดนักลงทุนได้


เชื่อมยุทธศาสตร์เบลท์ แอนด์ โรด

รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความสำเร็จของอีอีซีว่าเป็นจุดเชื่อมต่อโครงการ ‘เบลท์ แอนด์ โรด’ ของจีน เนื่องจากจีนทำโครงการนี้ลงใต้เพราะเห็นผลมากที่สุด โดยลงมาอาเซียนเพราะดัชนีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ความสงบที่เรามีทำให้จีนเลือกเราเป็นศูนย์กลาง

เขาใช้ GBA (ฮ่องกง มาเก๊า กวางตุ้ง) เป็นหัวหอกในการลงทุนทั่วอาเซียน เลี้ยวซ้ายไปเวียดนาม เลี้ยวขวาไปเมียนมา หรือตรงมาที่ไทย ไปอินโดนีเซียก็ได้ แต่ทำไมเมื่อเขาประชุมกันที่ปักกิ่ง ญี่ปุ่นและจีนร่วมมือลงทุนในเมืองไทยเป็นแห่งแรก ระบุเลยว่าอีอีซี นี่คือโอกาสที่เราสร้างขึ้นมา ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเขาจะมาไหม เราจึงพยายามให้จีนใช้เราเป็นฐานเจาะเข้าไปใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) มีโอกาสทั้งนั้น อยู่ที่เราสามารถสร้างสตอรีให้เขาเชื่อใจเราได้ไหม

เราเป็นประธานอาเซียน ทุกคนบอกว่าเราคือเพชรของอาเซียน เราคือหัวใจของซีแอลเอ็มวี ตอนที่ประเทศไทยมีปัญหาเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ผู้นำบางประเทศบอกว่าถ้าเมืองไทยแก้ปัญหาไม่ได้ อาเซียนจะมีปัญหา เพราะเราคือศูนย์กลางของอาเซียน

ถ้าท่านบอกว่าสถานการณ์ 5 ปีที่ผ่านมาไม่ดี ทำไมเวิลด์แบงก์ถึงยกย่องประเทศไทยเป็นตัวอย่างพัฒนาในภูมิภาคนี้ ไอเอ็มดียกระดับความสามารถทีเดียว 5 อันดับ จาก 30 มาอยู่ที่ 25 ได้ยังไง ถ้าเราไม่พยายามลดขั้นตอนธุรกิจที่เป็นขวากหนาม ฟิทซ์ เรตติ้งยกระดับเมืองไทยเพราะเขามองว่าตลาดหุ้นของเราใหญ่เป็นที่ 2 ในอาเซียน การเมืองนิ่ง เป็นเซฟเฮเวนของนักลงทุน มีกระดานหุ้นสำหรับนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในซีแอลเอ็มวีผมเจอนักลงทุนทุกวัน เขาถามคำเดียวว่านโยบายเปลี่ยนหรือไม่ รัฐบาลผสมทำงานร่วมกันได้หรือไม่ ผมก็ตอบไปว่าพวกคุณไม่เคยเห็นเมืองไทยมีรัฐบาลผสมหรือ เรามีรัฐบาลผสมมาตลอด แต่ก็มีกลไกการทำงานร่วมกัน ผมแนะนำท่านนายกฯ ไปแล้วว่าควรมี ครม.เศรษฐกิจ เพื่อให้ทุกคนมานั่งหารือและไปทางเดียวกัน คู่แข่งเรามาแล้ว เวียดนาม เมียนมา ฟิลิปปินส์

เรากินบุญเก่ามา 30 ปี แหลมฉบัง มาบตาพุด ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ถ้าไม่สร้างสิ่งใหม่ที่สามารถจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศมาเมืองไทยได้ จะดึงให้เขามาลงทุนในเมืองไทยได้ยังไง เรามีอะไรดีกว่าเวียดนาม เมียนมา ค่าแรงก็แพงกว่าเขา เทคโนโลยีก็ครึ่งๆกลางๆ ถ้าไม่ปฏิรูปประเทศไทยจะมีอะไรพัฒนาได้ ที่ซ้ำร้ายที่สุดคืออนาคตข้างหน้า สังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมคนเปลี่ยน การผลิตเปลี่ยน การค้าเปลี่ยน ถ้าเราไม่เปลี่ยนตามสิ่งเหล่านี้ให้ทัน ท่านคิดว่าเราอยู่ได้ไหม อันนี้เป็นเรื่องหนักใจมากในบรรดาคนที่ทำงานอยู่ เราพยายามวางรากฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสิ่งเหล่านี้


ปรับลุคบุกส่งออก


รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า นับจากวันที่เข้ามาบริหารเศรษฐกิจเมื่อ 5 ปีก่อนได้ประกาศกับทีมเศรษฐกิจว่าสิ่งที่ต้องทำคือ จะให้เศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้ ติดลบไม่ได้ เพราะความมั่นใจที่หายไปดึงขึ้นมายากมาก ฉะนั้นสิ่งที่พยายามทำในปีแรกคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากกระตุ้น เพราะต้องใช้เงินจำนวนมากทุกมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลเก่ารัฐบาลใหม่นำมาใช้หมด

“ผมได้รัฐมนตรีคลังที่ดี รัฐมนตรีอุตสาหกรรมที่ดี ผู้ร่วมงานดีๆ หลายคน พยายามอย่างหนัก ผลเป็นยังไง ท่านก็เห็นตัวเลขอยู่แล้วว่าจาก 1% เป็น 3% ไล่ขึ้นไปถึง 4% ไตรมาสแรกปี 61 สูงถึง 4.8% นี่ไม่ใช่คุยและไม่ได้ดีใจ เพราะอย่าฝันเลยว่าจะได้เกิน 5% หรือจะยืนอยู่อย่างนี้ได้ถ้าไม่ปฏิรูป จะยืนอยู่ได้อย่างไร ท่านดูสิ การส่งออกเคยขึ้นไปสูงมากในช่วงปี60-61 แต่พอเศรษฐกิจโลกไม่ดีเท่านั้น ติดลบทันที สมัยรัฐบาลเพื่อไทยก่อนหน้านี้ไปได้ดี พอเศรษฐกิจโลกไม่ดี ติดลบทันที ไม่ติดลบได้ยังไง

ลองไปดูตัวเลขสินค้าที่เราส่งออก กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, สินค้าเกษตร, ปิโตรเคมิคัล วนเวียนใน 4-5 กลุ่มนี่แหละ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา พอมาถึงครั้งนี้เจ็บหนักเพราะอะไร เพราะจีนกับสหรัฐมีปัญหากัน เราเป็นซัพพลายเชนให้กับสินค้าจีนในกลุ่มที่เคยมาจึงกระทบ สิงคโปร์ ไตรมาสที่ผ่านมา สินค้าซึ่งไม่ใช่น้ำมันติดลบถึง 17% ถ้าสิงคโปร์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปก็ตีลังกาเหมือนกัน

ฉะนั้นปัญหาของเราคือสินค้าส่งออกหลักมีไม่กี่อย่าง เป็นสินค้าที่กินแค่ส่วนต่าง รับจ้างผลิต สินค้าเกษตรก็เป็นสินค้าดิบๆ ไม่เคยยกระดับเทคโนโลยี แต่สิ่งเหล่านี้จะให้จู่ๆ กลายเป็น 5% เอาที่ไหนมาได้ ถ้ามีแต่อุตสาหกรรมเดิม 4-5 ตัวไปไม่ได้ สินค้าเกษตรจะต้องแปรรูปยกระดับมูลค่า ผมถึงประกาศอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องการสร้างเพื่อส่งออกในอนาคต การหาตลาดใหม่ กระทรวงพาณิชย์พยายามมาทุกช่องทาง ประชุมทุกปี ทุกคนมีเป้า แต่ไม่ง่าย สมัยนี้แข่งกันสูงมาก ถ้าจะส่งออกได้ดีสินค้าของเราต้องแข่งขันได้ มีมูลค่าสู้เขาได้ นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย”

เพิ่มโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ


ในเรื่องความเหลื่อมล้ำ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าถ้ามีมากอยู่ไม่ได้ คนตีกันเพราะคนจนมากๆ เขาไม่ฟังเหตุผลแล้วในช่วงที่ผ่านมา 4-5 ปีถ้ามองอย่างเป็นธรรมกับรัฐบาลสักหน่อยจะเห็นว่า สินค้าเกษตรตกต่ำทั่วโลกแต่ข้าวแย่กว่าเพื่อนเพราะมีแรงกดดันจากข้าวในสต็อกมหาศาล ในขณะที่ก่อนหน้านี้ส่งเสริมให้ปลูกยางกันทั้งประเทศจนเกิดโอเวอร์ซัพพลาย

“ผมไม่ได้บอกว่าปลูกยางไม่ดี แต่เราไม่มีการเปลี่ยนแปลงการผลิตยางให้มีมูลค่าเพิ่มเลย ซัพพลายมหาศาลแต่มูลค่าต่ำ จะขายให้ใคร 15 ปีก่อนผมไปเมืองจีนขอให้เขาช่วยซื้อข้าว ซื้อยาง มาถึงวันนี้ผมไม่ยอมพูดง่ายๆ ว่าขอให้จีนซื้อข้าวซื้อยาง ผมขายหน้า คิดแต่ว่าจะทำให้จีนอยากซื้อสินค้าของเรา ที่ผ่านมาชาวนาเกือบ 30 ล้านคน มีจีดีพีไม่ถึง 10% ถ้าจีดีพีไม่ถึง 10% เขาจะเอาส่วนแบ่งที่ไหนไปได้ มันน้อยมาก

พอเป็นแบบนี้ทางเดียวที่จะช่วยเขาได้ในระยะสั้น ทุกพรรคก็ใช้ พรรคเพื่อไทยใช้จำนำข้าว ประชาธิปัตย์ประกันรายได้ รัฐบาลที่ผ่านมาใช้วิธีเพิ่มรายได้ให้พอดีกับที่เขาน่าจะอยู่ได้ จะเรียกว่าจำนำยุ้งฉางก็ได้ ทุกคนเน้นไปที่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ทุกองค์กรต่างทุ่มไปช่วยคนจนทั้งสิ้น พยายามยกระดับขึ้นมาเท่าที่ทำได้ในขณะนั้น

แต่ราคาแค่นั้นไม่เพียงพอ โครงสร้างทั้งระบบ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าใช้จ่ายทุกอย่างไม่เอื้ออำนวยเขาเลย ทำไมต่างประเทศใช้ข้าวจากเราไปทำสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำไมเขารู้จักแปรรูปสินค้าให้ดี ทำไมเขารู้จักสนับสนุนให้เกษตรกรค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ สิ่งเหล่านี้เราพยายามเรียนรู้จากประเทศอื่นแล้วนำเข้ามาปรับใช้ในประเทศไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา”

บัตรสวัสดิการไม่ได้เอื้อคนรวย


ในด้านการแจกบัตรสวัสดิการประชารัฐ ดร.สมคิดอธิบายว่า เนื่องจากกระทรวงการคลังได้สร้างระบบพร้อมเพย์ขึ้นมา ซึ่งสามารถทำให้เงินไปถึงมือชาวบ้านได้ทุกบาททุกสตางค์ แค่รูดการ์ดทุกอย่างก็จะอยู่ในระบบหมด ต่างกับสมัยก่อนที่ช่วยแล้วเงินไปไม่ถึงชาวบ้านทั้งหมด

“บัตรสวัสดิการประชารัฐทำขึ้นมา มาคู่กับระบบพร้อมเพย์ เพราะเราเรียนรู้จากต่างประเทศว่าวิธีการนี้สามารถส่งเงินไปสู่ที่ที่ต้องการได้ตรงๆ เลย ไม่มีการละลายระหว่างทาง หลายท่านบอกว่าบัตรสวัสดิการประชารัฐเอื้อคนรวย ผมเรียนท่านตรงๆ พวกเราหลายคนเติบโตมาจากครอบครัวที่จน เรารู้ว่าความจนมันแย่ยังไง รายได้ 3 หมื่นบาทต่อปีอยู่กันได้ยังไง ไม่ต้องพูดถึงต่ำกว่าแสน

ฉะนั้นบัตรสวัสดิการประชารัฐ เริ่มต้นทำไมถึงให้เขาซื้อผ่านธงฟ้า เพราะขณะนั้นร้านค้าหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องรูดการ์ด ไม่มีอีวอลเล็ต ขณะที่เราต้องการให้เกษตรกรซื้อของที่จำเป็น สินค้าที่ต้องใช้บริโภคประจำวัน และท่านอย่าลืมว่ารัฐมนตรีคลังของผมในอดีตขี้เหนียวมาก ไม่ใช่จะอนุมัติง่ายๆ เมื่อเราเริ่มต้นมาดี ก็พยายามจูงใจให้ร้านค้าย่อยมีเครื่องรูดการ์ด หลังจากนั้นเราก็เริ่มให้ซื้อขายผ่านร้านค้าอื่น จนกระทั่งมีการให้เงินสดเพิ่มเติมในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มีเจตนาแจกเงิน แต่เขาเหล่านั้นมีเงินเพียงแค่ 3 หมื่นต่อปี เราต้องการประทังชีวิตของเขาให้อยู่ได้”


หนุนเศรษฐกิจเมืองรอง


ในด้านการท่องเที่ยวได้ประกาศส่งเสริม 55 เมืองรอง เนื่องจากการแก้ไขปัญหายากจน ชุมชนต้องเข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็งได้ ก็นำเทคโนโลยีเข้าไปได้ สามารถสร้างมูลค่าได้ สร้างผู้นำในหมู่บ้านให้เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ กล้าเปลี่ยนแปลง เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วก็สามารถกระจายไปสู่ลูกบ้านทั้งคอมมูนิตี้ เพิ่มประสิทธิภาพคมนาคม สร้างรถไฟทางคู่อย่างน้อย 7 เส้นทาง 4,000 กิโลเมตร จากเดิมทางรถไฟมีแค่ 250 กว่ากิโลเมตร เป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นภายใน 5 ปีเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเมือง นักท่องเที่ยวจะได้เดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก
วอนทุกฝ่ายจับมือเดินหน้าไปด้วยกัน

รองนากยรัฐมนตรีย้ำสุดท้ายก่อนจบว่า ขอให้มั่นใจ ขอให้ไว้ใจซึ่งกันและกัน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีจะพยายามกำกับให้มีความโปร่งใส เดินไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง นาทีนี้เป็นจุดพลิกผันสำคัญมาก รถยนต์โตโยต้าไปผลิตอีวีที่อินโดนีเซีย สินค้าไฮเทคของญี่ปุ่นเช่นเครื่องมือแพทย์ไปที่เวียดนาม เราจึงต้องฝ่าด่านการปฏิรูปไปให้ได้

“ผมหวังว่าใน 3-4 ปีข้างหน้า ถ้าเราร่วมมือกันได้ จะไปได้ดี ถ้าเราผ่านพีเรียดนี้ไป ซึ่งเราอยู่สูงที่สุดแล้ว ผมดีใจที่ได้เห็นนักการเมืองรุ่นใหม่หลายคนซึ่งเป็นความหวังของประเทศมาร่วมกันทำงาน ตอนผมเข้าสู่การเมืองเมื่ออายุ 47 เพราะต้องการเป็นตัวอย่างของคนที่พร้อมทำงาน ไม่ได้เข้ามาแสวงหาประโยชน์ ถ้าเราเข้ามาแล้วไม่สามารถทำงานได้ คนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากเข้ามา การเมืองก็จะเละเทะ”

นั่นคือบทสรุปคำชี้แจงของรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์


SALIKA knowledge sharing space
5 ปีพลิกวิกฤตลงทุน ถ้าไม่มีอีอีซีจะเอาอะไรไปสู้กับเวียดนาม รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 5 ปีพลิกวิกฤตลงทุน ถ้าไม่มีอีอีซีจะเอาอะไรไปสู้กับเวียดนาม รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ Reviewed by admin on 11:57 PM Rating: 5

No comments