สถาบันพระมหากษัตริย์และการมีอยู่ในสังคม




ผมอยากจะเขียนเรื่องนี้ในแนวกึ่งวิชาการเพื่อให้อ่านกันง่ายขึ้น หลายคนตั้งคำถามเรื่องการมีอยู่ของสถาบันฯ กับสภาวะที่เปลี่ยนไปในสังคม คนรุ่นผมในช่วงวัยเดียวกับคนรุ่นนี้ก็เคยตั้งคำถามนี้มาแล้ว และคนก่อนรุ่นผมก็เคยตั้งคำถามไม่ต่างกันถึงประโยชน์และความเหมาะสม และต่างก็ได้คำตอบที่ตัวเองยอมรับจนมาถึงทุกวันนี้



ในสมัยก่อนรุ่นของผมนั้นมีการตั้งคำถามถึงเรื่องนี้หลากหลายกว่ารุ่นผมเสียอีก เพราะพวกเขาเคยใช้ชีวิตและทำงานมากับคนที่สถาบันฯ แต่งตั้งขึ้นมาบริหารกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ จะบอกว่าเวลานั้นประเทศสยามกำลังเปลี่ยนแปลงไปยังสยามใหม่ที่ต้องการคนที่เข้าใจจริง ๆ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมและพัฒนาประเทศในยุคที่ประเทศสยามต้องเอาตัวรอดในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีอยู่ของประเทศเลยแม้แต่น้อย มีการเอาผู้ที่มีการศึกษาจากยุโรปเข้ามาทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเชื้อพระวงศ์และบุคคลธรรมดาที่มีฐานะเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานไปศึกษาวิชาการแผนใหม่จากต่างประเทศ จะบอกว่าเวลานั้นเป็นการเอาคนที่รู้ทันเจ้าอาณานิคมรอบบ้านเรามาทำงานเพื่อความอยู่รอดของสยามในเวลานั้นก็ได้



แต่เวลาผ่านไปจนคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตกกลับมาทำงานในประเทศสยามได้ตั้งคำถามเดียวกันกับคนที่สมัยรุ่นก่อนหน้าตัวผมเอง ไม่ต่างกับคนรุ่นตัวผมเอง และคนรุ่นปัจจุบัน ถึงความเหมาะสมของการมีอยู่ของสถาบัน และได้ทำนอกเหนือกับที่คิดเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา แต่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองที่คิดว่าดีแล้วเหมาะสมแล้วกับสยามใหม่ในยุคนั้น ซึ่งเวลานั้นถือว่าเป็นเวลาแห่งการสับสนในสังคมโลกไปทั้งหมด ยังไม่มีใครรู้ว่าระบอบการปกครองอะไรในเวลานั้นที่ควรจะก็อบปี้เอาขึ้นมาใช้กับสยามใหม่ เพราะเวลานั้นทั้งโลกยังไม่รู้ว่าจุดจบของแต่ละระบอบคืออะไร ทั้งระบอบขวาจัดของสหการนิยมชาติ (National Syndicalism) หรือต่อมาที่พัฒนาเป็นระบอบ (ลัทธิ) ฟาสซิสต์ (Fascism) หรืออีกปีกหนึ่งที่ซ้ายจัดคือลัทธิมาร์กซ์-อนาธิปไตย (ลัทธิอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์​) หรือแม้แต่สังคมนิยม เสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ที่เวลานั้นยังไม่มีใครรู้ว่าจะเลือกแบบไหนมาเป็นแนวทางเดินของประเทศสยาม เป็นช่วงในเวลาที่กลุ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองทำการฉุกเฉินแบบไม่มีพิมพ์เขียวของประเทศล่วงหน้า เพราะกลุ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังมีการขัดแย้งทางความคิดเป็นการภายในอยู่ไม่น้อย

จนในที่สุดก็ตกผลึกได้ว่า จะเอาระบบไหนก็ตามประชาชนก็ยังยึดเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่งทางใจเหมือนเดิม แม้ว่าจะทรงไม่ได้อยู่ในประเทศแล้วก็ตาม และต่อมาก็มียุวกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่คนหลายคนตั้งคำถามว่าจะไปรอดหรือไม่กับการปกครองแบบใหม่ที่เพิ่งก้าวเดินมาไม่กี่ปี การตั้งคำถามถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และการมีอยู่ในสังคมนั้นมีมาอยู่ตลอดเวลา จนถึงเวลาที่ยุวกษัตริย์พระองค์แรกทรงจากไปบนความเคลือบแคลงของประชาชนถึงรัฐบาล ซึ่งในเวลานั้นพยายามดิสเครดิตสถาบันฯ มาตลอดเวลา รวมทั้งตั้งตัวเองเป็นผู้ปกครองประเทศสูงสุดในทางพฤตินัย แทนที่จะถวายพระเกียรติตามรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ แต่ความที่รัฐบาลยังต้องอาศัยสถาบันฯ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญอันดับแรกอยู่ ยุวกษัตริย์พระองค์ที่สองก็ขึ้นมาครองราชย์เพื่อสยบความวุ่นวายของบ้านเมืองในเวลานั้น ซึ่งเป็นวิกฤติที่จะอาจจะเขย่าความอยู่รอดของรัฐบาลได้

คำถามยังมีต่อมาในหมู่ผู้คนกลุ่มที่ได้รับการศึกษา ว่าการมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นยังมีความสำคัญต่อประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกในช่วงหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สองหรือไม่ เวลานั้นสถาบันกษัตริย์ในประเทศต่าง ๆ โดนสั่นคลอนอย่างมาก ทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ และประเทศต่าง ๆ ที่ยังยอมรับการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนของประเทศเหล่านั้นได้เห็นและมีประสบการณ์ร่วมของสังคมในเวลานั้นคือสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการจัดการกับสภาวะวิกฤติของชาติ (Crisis Management) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาภายในหรือปัญหาภายนอก ประเทศอังกฤษนั้นถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งถึงการบริหารประเทศในสภาวะวิกฤติของชาติทั้งในช่วงสงครามและหลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง

และเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงนโยบายการปกครองประเทศของรัฐบาลอีกครั้ง จากยุคของ ป. พิบูลสงคราม ที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนาน และคั่นเวลาสั้น ๆ อีกสองรัฐบาลจนถึงยุคของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการให้ความสำคัญแก่สถาบันเพิ่มขึ้น รัฐบาลสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ในพระราชสำนักมากขึ้น พระราชกรณียกิจก็เริ่มออกมาสู่สายตาของประชาชนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน งานของสถาบันที่มีต่อประเทศไทยและพสกนิกรของพระองค์ก็เริ่มเดินหน้า งานพัฒนาประเทศคู่ขนานกับรัฐบาลของสถาบันกษัตริย์เริ่มออกมาให้ประชาชนได้รู้เห็น เวลานั้นคำถามในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และการมีอยู่ในสังคมนั้นก็เริ่มน้อยลง เพราะคนไทยทั้งประเทศเริ่มเห็นแล้วว่า การมีอยู่ของสถาบันฯ นั้นมีดีมากกว่าไม่มี ในแบบหลายประเทศที่ทำกันในช่วงรอยต่อของศตวรรษที่ 19-20

คำถามที่ดูเหมือนกับว่าจะจบลงนั้นไม่ใช่ว่าจะจบจริง เพราะต่อมาคนรุ่นผมก็ยังมีการตั้งคำถามเหล่านี้อยู่ในแวดวงของรั้วมหาวิทยาลัย ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์และการมีอยู่ในสังคมในเวลานั้น ยังคงเหมาะสมในอนาคตอยู่หรือไม่ และอีกครั้งที่ความสงสัยนั้นหมดไปเมื่อสถาบันฯ แสดงให้เห็นถึงการจัดการกับสภาวะวิกฤติของชาติ (Crisis Management) อีกครั้งและอีกครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ปัญหาที่ไม่น่าจะจบก็จบลงได้ เมื่อทรงมีพระราชดำรัสให้หยุด ทุกอย่างก็หยุดลงในทันที คนรุ่นผมนั้นผ่านมาครบทั้งวิกฤติของชาติปี 16 - 19 - 35 ที่ประเทศพร้อมลุกเป็นไฟ ก็สงบลงได้ในเวลาไม่กี่นาที หลังทรงมีพระราชดำรัสกับคนไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเวลานั้น จะบอกว่าคำถามนี้หายไปหลายสิบปีเลยตลอดเวลาที่ทรงครองราชย์อยู่ก็ว่าได้ แต่ในสมัยนี้คงไม่มีใครที่เกิดทันได้เห็นถึงการใช้พระราชอำนาจที่ทรงมีอยู่ก็คงจะกลับมาตั้งคำถามนี้ต่อไป



เวลาที่ผ่านมาหลายสิบปี การมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์และการมีอยู่ในสังคมนั้นก็ยังส่งผลดีต่อประเทศต่อเนื่องเรื่อยมาจากการทรงงานอย่างไม่รู้จบสิ้นตลอดรัชสมัยของพระองค์ ไม่มีดินแดนห่างไกลที่ไหนของประเทศไทยที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จากแหล่งผลิตยาเสพติดกลายเป็นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรที่ยั่งยืนกว่า ระบบชลประทานที่ไม่อาจจะเป็นไปได้ ก็เป็นไปได้ในเกือบทุกพื้นที่ งานที่ทรงทำมาตลอดรัชสมัยก็เริ่มส่งผลให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ยั่งยืนขึ้นจนถึงทุกวันนี้ อย่างที่เห็นกันอยู่

ทุกวันนี้คำถามเรื่องการมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์และการมีอยู่ในสังคมก็ยังไม่หมดไป ไม่ต่างกับคนรุ่นก่อนหน้าผมและรุ่นผมเคยตั้งคำถามเอาไว้ เพียงแต่ต้องให้เวลาพวกเขาสักนิดในการมองเห็นว่า การมีอยู่ของสถาบันฯ นั้นดีกว่าไม่มีอย่างไร ทุกวันนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ของบ้านเราก็มีสภาพใกล้จะเข้าไปเหมือนกับหลายประเทศที่ยังคงมีสถาบันฯ อยู่ ทรงต้องเสียภาษีรายได้ไม่ต่างกับประชาชนคนอื่น และต้องยืนอยู่บนลำแข้งของแต่ละพระองค์ในการหาค่าใช้จ่ายในพระราชสำนักของแต่ละพระองค์เพิ่มขึ้นให้เพียงพอในการทรงงาน โดยไม่รบกวนให้เป็นภาระของรัฐมากนัก จะบอกว่าเวลานี้ก็ไม่ต่างกับเวลาที่ผ่านมา ที่สถาบันฯ ต้องพึ่งพาตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ พึ่งพารัฐเป็นส่วนน้อย ตามที่รัฐจะถวายเพื่อดำรงพระเกียรติยศไม่ต่างกับเวลาที่ผ่านมา



คำถามเรื่องนี้มีได้และสามารถมีได้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร เพราะคนทุกรุ่นก็เคยตั้งคำถาม แต่ทุกคำถามควรตั้งในรูปแบบของความเป็นจริง ถวายพระเกียรติยศโดยมีความสุภาพไม่จาบจ้วงแบบไร้สติ และอิงอยู่บนทฤษฎีโดยใช้ความรู้สึกชอบไม่ชอบส่วนตัวให้น้อยกว่าการใช้เหตุผล สิ่งที่ผมเชื่ออย่างหนึ่งคือเมื่อไรที่มีวิกฤติของชาติที่หาทางออกไม่ได้ที่ต้องจัดการ สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นคือเครื่องมือที่ทำให้ชาติเดินหน้าต่อไปได้ในการบริหารวิกฤติของชาติ (Crisis Management) เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา จะเป็นสิ่งที่ตอบคำถามที่ดีที่สุดให้กับคนในยุคนี้ ไม่ต่างกับที่คนในสมัยของผมเองได้รับคำตอบในคำถามแบบเชิงประจักษ์มาแล้วหลายครั้ง



สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นไม่ได้มีหน้าที่ที่จะลงมาปกป้องตัวพระองค์เอง และจะทรงไม่ทำแบบนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ทรงกระทำสืบเนื่องมาทุกรัชกาลหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ แต่หน้าที่นี้เป็นของประชาชนต่างหากที่มีหน้าที่จะต้องปกป้องสถาบันฯ เอาไว้ เพราะสถาบันฯ จะไม่มีทางที่จะดำรงอยู่ได้เลยถ้าประชาชนไม่สนับสนุนและปกป้องให้สถาบันฯ นั้นยังคงมีอยู่ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ รวมทั้งนอกเหนือจากนั้นพระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่ดำรงพระองค์เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ครอบคลุมหน้าที่ของพระองค์ในเรื่องนี้เอาไว้ แต่ประชาชนรู้ดีว่าพระองค์ต้องทรงแบกรับหน้าที่นี้เอาไว้อยู่ตลอดเวลา

วันนี้ผมคงเขียนอะไรให้อ่านได้เพียงเท่านี้ ผมอยากจะแชร์ประสบการณ์และความคิดที่มากกว่าการใช้ความรู้สึกให้คนอีกรุ่นหนึ่งที่เกิดไม่ทันและไม่เคยผ่านสิ่งเหล่านี้มาได้เข้าใจว่า คำถามเรื่องสถาบันฯ ที่มีในทุกวันนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกหรือสิ่งใหม่ คำถามนี้มีกับคนทุกรุ่นมาร้อยกว่าปีแล้ว จะบอกว่าตั้งแต่ ร.ศ.130 ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ว่าได้ และคนทุกรุ่นก็ได้รับคำตอบด้วยตัวเองมาตลอดว่าการมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นสำคัญเพียงใดต่ออนาคตของสังคมไทย

สถาบันพระมหากษัตริย์และการมีอยู่ในสังคม สถาบันพระมหากษัตริย์และการมีอยู่ในสังคม Reviewed by admin on 11:53 PM Rating: 5

No comments