จีนขัดแย้งกับอเมริกา: ไทยจะทำอะไรและอย่างไร?


สหรัฐอเมริกากำลังจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ คลินตัน กับ ทรัมพ์ ใครจะขึ้นเป็นคนต่อไปย่อมเป็นที่สนใจของทั้งโลก แต่ไม่ว่าใครจะเป็น สหรัฐก็ยังมีภารกิจและบทบาทที่สำคัญในฐานะที่เป็นมหาอำนาจโลกหมายเลขหนึ่ง
หากทรัมพ์เป็นประธานาธิบดี โลกจะมีอาการ "น่าเป็นห่วง" มากกว่า เพราะอเมริกาอาจจะทำสองอย่างพร้อมๆกันไป คือหนึ่ง ปลีกตัวเองจากภารกิจที่ยุ่งยากในโลก เช่น เมินเฉยหรือทอดทิ้งพันธมิตรและแนวร่วม หันมาสู่การพัฒนาประเทศแทบจะอย่างเดียว หรือ สอง ควบคู่กันไป ประธานาธิบดีทรัมพ์อาจกล้าเสี่ยงทำสงครามใหญ่ ไม่ว่าในที่ใดกับใคร พร้อมที่จะใช้กำลังอาวุธและกำลังทหาร (ประเภทที่ไม่ใช่ และไม่ใช้นิวเคลียร์) ซึ่งมีเหนือกว่าทุกประเทศอื่นใดอย่างล้นเหลือ


กับจีน สหรัฐอาจหันมา"ต่อสู้"เป็นหลัก และจะ "ร่วมมือ" เป็นรอง ความขัดแย้งและตึงเครียดในทะเลจีนใต้และในทะเลจีนตะวันออก เริ่มจากการปะทะกันอย่างประปรายระหว่างจีนกับเวียดนามหรือฟิลิปปินส์ หรือ ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น อาจลุกลามและนำผลเสียมายังไทยซึ่งอยู่ใกล้
โปรดระลึกว่า เมื่อจีนเคลื่อนเข้าหาไทยและอาเซียนเมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้วนั้น อเมริกายินดีและ "ร่วมมือ"กับจีนเต็มที่ เพราะจีนเข้ามาเพื่อต้านทานเวียดนามและโซเวียต สองชาติใหญ่ขณะนั้นอยู่ในโหมด "ร่วมมือ" กัน แทบจะอย่างเดียว ครับ แต่อนาคตข้างหน้านี้ เราจะเผชิญกับการ "ต่อสู้" ของมิตรทั้งสองนี้มากขึ้น ถามว่าไทยเราจะทำอย่างไรดี ?
อย่าลืมครับ ทั้งสองประเทศนี้ ล้วนเป็นมิตรเรา ไทยนั้นเป็น non-Nato major ally ของสหรัฐ ขณะเดียวกันเราก็ใกล้ชิดจีนมาก จีนเองถือว่าความสัมพันธ์จีน-ไทยนั้นดีที่สุด อยู่ในแถวแรกสุดของความสัมพันธ์ที่จีนมีต่อบรรดาประเทศทั่วโลก ยิ่งกว่านั้น ไทยจะทิ้งจะห่างอาเซียนก็ย่อมไม่ได้ พิสูจน์มาแล้วว่าอาเซียนนั้นเพิ่มแรงให้กับเรามากในการอยู่ร่วมกับมหาอำนาจทั้งหลายรวมทั้งกับ ยุโรป อินเดีย และญี่ปุ่น


ผมเคยเสนอความคิดไปแล้วว่าเราไม่ควรเข้าข้างใคร ไม่ควรยุแหย่ให้ใครขัดแย้งกับใคร ไม่ใช่กงการอะไรของเราว่าระหว่างจีนกับอเมริกานั้นใครจะแพ้จะชนะในวันข้างหน้า ควรจะรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นให้ดีด้วยความอบอุ่นเป็นพิเศษให้สมกับที่สองชาติ เขากับเรานั้นช่างต่างจากกับประเทศเอเชียจำนวนมาก คือไม่เคยรบกัน ในสงครามโลก ให้เราสนใจและร่วมมือกับจีนและซีก "ตะวันออก" ของโลกมากขึ้น โดยไม่ยอมออกห่างหรือเผลอไปดูเบา "ตะวันตก"
ฟังดู "ยาก" นะครับ ให้ "ดี" กับ"ทุกฝ่าย" ให้สนใจพลังที่เกิดใหม่ พลังที่รุ่งโรจน์ แต่ก็ไม่ดูเบาพลังเก่า ที่ดูแล้วถดถอย เหนื่อยล้า แต่เขาก็อาจพลิกตัวกลับรุ่งเรืองขึ้นได้ใหม่ แต่เมืองไทยนั้นทำอะไร "ยาก ๆ " พรรค์นี้ได้ดีแน่


ผมเคยเสนอว่าวิเทโศบายของไทยในขณะนี้ควรมุ่งสู่การเป็น "ชาติอำนาจระดับกลาง" หรือมุ่งไปเป็น "middle power" นั่นเอง เป็นอย่างตุรกี อย่างอินโดนีเซีย อย่างบราซิล ซึ่งมีผู้ใหญ่บางท่านอดเป็นห่วงว่านั่นไม่เท่ากับว่าเราจะไปแข็งกร้าวกับอเมริกาและโลก "ตะวันตก" หรือ จะทำไปทำไม สู้อยู่เฉยๆ พูดน้อยๆ ไม่เสี่ยงขยับตัวมากนักจะดีกว่าไหม และปิดท้าย "จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจีนที่รุ่งขึ้นมาใหม่จะไม่พลาดล้มหรือดิ่งเหวได้เหมือนกัน"
ความคิดเห็นโดยสุจริตใจของท่านผู้มากด้วยประสบการณ์ทางการทูตเช่นนี้ทำให้ผมกลับนำมาครุ่นคิด แต่ก็ได้คำตอบเช่นเดิมว่า เราก็ยังควรมุ่งสู่การเป็น "ชาติอำนาจระดับกลาง" อยู่นั่นแหละ ไม่ควรอยู่เป็นชาติ "ลูกไล่" หรือชาติ "ลูกน้อง" ของมหาอำนาจใดในโลก เวลานี้ การพัฒนาเศรษฐกิจทำให้เรายกระดับขึ้นเป็น "ประเทศรายได้ปานกลาง" หรือ "ประเทศของคนชั้นกลาง" แล้ว ในทางสากลประเทศไทยก็อยู่ในระดับนำหน้าของการท่องเที่ยวโลกไปแล้ว จึงไม่สมควรที่จะอยู่เป็นประดุจ "บริวาร" ของสหรัฐ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น อีกแล้ว ถึงเวลาจะต้อง "ลุกยืน" ขึ้นมาแล้วครับ
ทว่า ขอย้ำชัดว่า "ชาติอำนาจระดับกลาง" ที่เราจะเป็นนั้น ก็ควรจะเป็นให้สอดคล้องกับทิศทางหลักทางการทูตและกับธรรมชาติของคนไทยเองด้วย ซึ่ง ชัดเจนครับ ไม่ใช่จะทำตนให้ไปเป็นปรปักษ์ หรือ วางตนให้แข็งกร้าวหรือหยาบกร้านกับมหาอำนาจของโลก มีผู้ใหญ่อีกท่านกล่าว และผมเห็นด้วยเต็มที่ "ไทยเรานั้นอะไรก็ "กลางๆ" ครับ คนไทยส่วนใหญ่ก็ถือหลัก"ทางสายกลาง" ไม่ตึงไปไม่หย่อนไป ไม่ "เข้าข้าง"ใคร โดยไม่มีสาเหตุ ไม่เกลียดใครจริง เกลียดใครนาน พร้อมจะให้อภัยและลืมความบาดหมาง ยิ้มง่ายคุยง่าย เข้ากับคนแปลกๆ ต่างด้าวต่างแดนได้ง่าย มีสันถวไมตรี 
ที่ต้องนึกไว้อีกอย่างก็คือ เรานั้นไม่เคยมี "ปมด้อย" หรือ "ปมแค้น"ในอดีตกับมหาอำนาจใด สยามนั้นเดิมก็ไม่เคยตกอยู่ใต้จักรวรรดิจีนแต่โบราณ ต่อมาเราก็ไม่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่ง และต่อมาอีก เราก็ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นหรือเป็นศัตรูกับญี่ปุ่น ครับ
ฉะนั้น "ชาติอำนาจระดับกลาง" อย่างเรา จะไม่มีปม "หงอ" หรือมี "แค้นฝังหุ่น" กับฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น จะไม่หนุน ไม่ยุ ให้ใครทะเลาะกับใคร ไม่ทิ้งมิตรเก่าและมิตรเพื่อนบ้าน ไม่ "เห่อ" มิตรใหม่จนออกหน้าออกตา พร้อมจะมีมิตรที่หลากหลาย ภารกิจหลักของไทยที่จะขึ้นมาเป็น "ชาติอำนาจระดับกลาง" รายใหม่ของโลกนี้คือ ให้ "สุภาพ-น่ารัก" กับทุกฝ่าย รักษาสันติภาพให้อาเซียนและเอเชีย ทำให้มหาอำนาจ และประเทศที่ขุ่นเคืองบาดหมางนี้ได้คุยกัน ทำให้เมืองสำคัญของไทยไม่ว่า กรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุดรธานี หรือ ปัตตานี ก็ได้ เป็นเมืองที่คนทั่วโลก รวมทั้งขบวนการมุสลิม-อิสลาม มาเจรจาสร้างสันติภาพ และแสวงหาความเข้าใจกัน มาเจรจากัน ร่วมมือกัน ไม่สนใจว่าโลกในอนาคตใครจะชนะใครจะแพ้ ใครจะหนีใครจะไล่ ใครจะทันใคร จะล้ำหน้าใคร เราจะสนใจแต่การพัฒนาตนเองให้ดีที่สุด เป็นมิตรกับมหาอำนาจและชาติทั้งหลายให้ดีที่สุด เป็นพอ
ในภาวะที่โลกเรามี "วิกฤต"ความขัดแย้ง เราควรฉวย "วิกฤต" นี้ คว้าเอามาเป็น"โอกาส" ทางการต่างประเทศของเรา สร้างตนเองเป็น "ชาติอำนาจระดับกลาง"ให้ได้ สร้างความเข้าใจและร่วมมือในระดับสากล ลดหรือขจัดความตึงเครียดระหว่างประเทศ
ในสภาพที่ประเทศยังมีปัญหาขัดแย้งไม่ปรองดองกันเท่าที่ควร ขอเสนอให้ทบทวนว่าทุกความขัดแย้งมีทางออกและวันเวลาข้างหน้ายังจะเปิดหนทางสู่ความปรองดองได้ คนไทยนั้นโดยเนื้อแท้เป็น "มนุษย์ปรองดอง" ยิ่งเราท่าน "ปรองดอง" กันได้ดีเท่าไร ก็ยิ่งจะเล่นบท "ปรองดอง"ระดับนานาชาติได้ดียิ่งขึ้น 
อย่างไรก็ดี ผม และ ทุกท่านทราบดีว่าการทำประเทศให้เป็น "ชาติอำนาจระดับกลาง" ที่เป็นอิสระ แต่ก็ทำตัวเป็นดั่ง "สะพานเชื่อมคลอง" ให้มหาอำนาจที่ยืนกันบนคนละฝั่งได้ก้าวข้ามมาหากัน หรือ เป็นราว "กาวใจ" ที่จะยึดติด"หัวใจ" ชาติที่ร้าวฉานอยู่ให้เข้าหากันใหม่นั้น จักทำได้เต็มที่ ทำได้เต็มศักยภาพจริง ก็ต่อเมื่อไทยเองนั้น "สมานฉันท์" กันได้แล้ว ซึ่งผมพร้อมจะรอครับ วันนั้นจะต้องมาถึงแน่นอน


จีนขัดแย้งกับอเมริกา: ไทยจะทำอะไรและอย่างไร? จีนขัดแย้งกับอเมริกา: ไทยจะทำอะไรและอย่างไร? Reviewed by admin on 11:51 PM Rating: 5

No comments