เยี่ยมเยือน ‘โมซัมบิก’ ไข่มุกงามแห่งกาฬทวีป



กระทรวงการต่างประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก อย่างมาก นอกจากจะมีการร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วนเพื่อให้การเปิดตัวประเทศไทยในโมซัมบิกประสบผลสำเร็จอย่างงดงามแล้ว นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนโมซัมบิกในห้วงเวลาเดียวกันเพื่อพูดคุยกับหลายหน่วยงานของโมซัมบิกเกี่ยวกับความร่วมมือและความช่วยเหลือที่ไทยพร้อมจะให้กับโมซัมบิก ตั้งแต่การเผยแพร่การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับโครงการพัฒนาชุมชนในโมซัมบิก โดยยึดเอาความต้องการของคนในพื้นที่เป็นหลัก นำคณะผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการประมงไปพูดคุยและแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับโมซัมบิกในด้านวิชาการ ทั้งยังได้ติดตามเรื่องที่ไทยจะมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโทให้กับนักศึกษาโมซัมบิกด้วย



ท่านทูตรัศม์ ชาลีจันทร์ เอกอัครราชทูตไทยประจำโมซัมบิกคนแรก เล่าให้ฟังว่า ในวันที่เข้ายื่นพระราชสาส์นกับประธานาธิบดีฟิลิปเป จาซินโต เอ็นยูซี ของโมซัมบิก ท่านประธานาธิบดีได้ขอบคุณและแสดงความยินดีที่ไทยมาเปิดสถานทูตที่นี่ และอยากให้ไทยร่วมมือกับโมซัมบิกในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งท่านทูตรัศม์ก็ได้แจ้งว่าปัจจุบันมีกลุ่มไมเนอร์ของไทยที่เข้ามาลงุทนในโมซัมบิกแล้วและคิดว่าจะสามารถขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีก อาทิ ให้ชาวโมซัมบิกไปเรียนหลักสูตรหรืออบรมด้านการโรงแรมในไทย



ขณะที่คณะผู้แทนจากกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ นำโดย ร.ท.สรวุฒิ ปรีดีดิลก อัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ปฏิบัติราชการที่กรมเอเชียใต้ฯ ก็ยังเดินทางไปพบปะพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการลงทุนในโมซัมบิก พร้อมกับเดินทางไปสำรวจศักยภาพของเมืองต่างๆ ทางตอนเหนือของประเทศ

เริ่มตั้งแต่การเดินทางไปเยี่ยมชมท่าเรือที่เมืองเบียรา จ.โซฟาลา ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางตอนกลางของประเทศ เป็นจุดลำเลียงสินค้าสำคัญจากประเทศข้างเคียงซึ่งไม่มีทางออกทางทะเล อย่างแซมเบีย มาลาวี และซิมบับเว ทั้งยังมีศักยภาพสูงในการทำประมง นอกจากนี้ ยังเดินทางไปที่ จ.นัมปูลา ซึ่งมีศักยภาพด้านอัญมณีและภาคเกษตร เพราะ จ.นัมปูลา ผลิตข้าวได้มากถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ รวมถึงเป็นพื้นที่ปลูกถั่วลิสงและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพของโมซัมบิก ตลอดจนสำรวจศักยภาพด้านการเกษตรและดูพื้นที่ที่อาจเสนอให้เป็นโครงการตัวอย่างของการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโมซัมบิก



ร.ท.สรวุฒิสรุปภาพรวมหลังเดินทางไปสำรวจพื้นที่ในโมซัมบิกว่า โมซัมบิกเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของไทยทั้งในเรื่องพลังงานและอัญมณี ปัจจุบันพลอยดิบที่เป็นทับทิมเกือบ 90% ไทยนำเข้ามาจากโมซัมบิก ขณะนี้นอกจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย จะเข้าไปลงทุนในโมซัมบิกแล้ว หลายประเทศในอาเซียนได้เข้าไปลงทุนเช่นกัน อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เชื่อว่าในอนาคตโมซัมบิกสามารถเป็นแหล่งประมง การท่องเที่ยว และเกษตรที่มีศักยภาพของไทยได้

นอกจากส่วนราชการต่างๆ จะระดมสรรพกำลังกันมาอย่างเต็มที่แล้ว คณะนักธุรกิจไทยจากสมาคมหอการค้าไทย-โมซัมบิกกว่า 15 ท่าน ยังเดินทางไปร่วมงานเปิดตัวประเทศไทยในคราวนี้ และร่วมพูดคุยกับฝ่ายโมซัมบิกเพื่อหาสถานที่สำหรับเปิดเป็นศูนย์กระจายสินค้าและแสดงผลิตภัณฑ์จากไทยด้วย

แม้ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงมาปูโต โมซัมบิกก็เป็นประเทศที่บริษัทไทยเข้าไปลงทุนเป็นมูลค่ามากที่สุดในแอฟริกาอยู่แล้ว โดยมูลค่าการลงทุนเพียงแค่ใน 2 โครงการหลักๆ ก็ปาเข้าไป 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 180,000 ล้านบาท คือโครงการสำรวจเพื่อทำการก่อสร้างทางรถไฟของ บมจ.อิตาเลียนไทย มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการลงทุนขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ. มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายรักขพงศ์ นฤบาล ผู้จัดการโครงการก่อสร้างทางรถไฟของ บมจ.อิตาเลียนไทย ในโมซัมบิก เล่าให้ฟังว่า บริษัทได้รับสัมปทานในการทำการสำรวจและออกแบบก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือจากโมอาติส-มาคุส ซึ่งมีระยะทางราว 500 กิโลเมตร มาตั้งแต่ปลายปี 2556 ถือเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งถ่านหิน ซึ่งเมื่อโครงการสำเร็จจะเป็นหนทางขนส่งที่ถูกที่สุด ขณะนี้เป็นการออกแบบเบื้องต้น เมื่อออกแบบเสร็จก็ต้องมาดูมูลค่าโครงการอีกครั้ง

นายรักขพงศ์กล่าวว่า คนไทยจะมองแอฟริกาในภาพเก่า มีสงครามกลางเมือง โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม มีโรคระบาด แต่ในความเป็นจริงขณะนี้ถือเป็นช่วงขาขึ้นของแอฟริกา แม้ว่าเศรษฐกิจของโมซัมบิกในขณะนี้จะไม่สู้ดี แต่เชื่อว่าประเทศนี้มีศักยภาพมาก ขณะที่ทักษะแรงงานแม้จะไม่พร้อมแต่สามารถฝึกฝนได้ การที่กระทรวงการต่างประเทศมาเปิดสถานทูตอย่างน้อยเมื่อมีปัญหาก็จะทำให้เอกชนมีช่องทางที่ชัดเจนในการติดต่อสื่อสารกับฝ่ายโมซัมบิก

ด้านนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานสมาคมหอการค้าไทย-โมซัมบิก กล่าวว่า คณะนักธุรกิจไทยเคยเดินทางมาโมซัมบิกเมื่อปีก่อน และมีความคุ้นเคยกับนายกรัฐมนตรีโมซัมบิกตั้งแต่ครั้งท่านยังเป็นเอกอัครราชทูตประจำอินเดีย ครั้งนี้คณะนักธุรกิจได้มีโอกาสเข้าพบท่านนายกฯเป็นการส่วนตัว และยังได้พบกับหน่วยงานอีกหลายแห่ง จึงมองเห็นโอกาสว่าน่าจะมีอะไรทำได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญภาพลักษณ์คนไทยในสายตาของชาวโมซัมบิกในภาพรวมถือว่าดี

นายต่อศักดิ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องค่าเงิน เพราะมูลค่าของเงินเมติกาลโมซัมบิกตกไปกว่าครึ่งหนึ่ง ระบบธนาคารในแอฟริกาจะมีปัญหาเพราะขณะนี้ยังมีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คุมอยู่ เมื่อระบบการเงินที่ต้องผ่านธนาคารลดลง เลยอาจทำเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าแทน จึงเห็นว่าต้องมีการทำคลังสินค้าและโชว์รูมเพื่อโชว์สินค้าไทย โดยสินค้าที่น่าจะมีโอกาสคือข้าว น้ำมันปาล์ม และอาหารกระป๋อง โชคดีที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดสถานทูตที่นี่เพราะทำให้นักธุรกิจรู้สึกอบอุ่น ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศก็ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

น.ส.พันธ์พิไล ใบหยก หรือพี่เล็ก อดีตนายกสมาคมมัณฑนากร 2 สมัย ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันให้มีการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างไทย-โมซัมบิก และยังเดินทางไปหาลู่ทางทำธุรกิจทั่วทวีปแอฟริกาเล่าให้ฟังว่า เท่าที่ได้สัมผัสคนแอฟริกาเป็นคนซื่อบริสุทธิ์ คบได้อย่างสบายใจ ในแอฟริกา ประเทศไทยและคนไทยเป็นที่ยกย่องชื่นชม จึงอยากให้คนไทยเปิดใจให้กว้างว่าคนแอฟริกาไม่ใช่คนเลวร้ายหรือขี้โกง เพราะคนแบบนั้นก็มีในทุกประเทศ ในการทำงานเราก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะประเทศในแอฟริกาอยู่ระหว่างกำลังพัฒนา เขายังต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุนจากเรามาก ขณะเดียวกันแอฟริกาเป็นแหล่งวัตถุดิบใหญ่ที่เหลืออยู่ในโลก ยังมีทรัพยากรอยู่มาก ไม่ว่าจะน้ำมัน แร่ธาตุ และอัญมณี ในแอฟริกา ถ้าเรามีความจริงจังและจริงใจ โอกาสสำหรับการมาทำธุรกิจยังมีอยู่เยอะมากเช่นกัน

แม้คำโบราณว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” แต่สำหรับการลงทุนของไทยในโมซัมบิก ความล่าช้าไม่น่าจะเป็นเรื่องดี

วรรัตน์ ตานิกูจิ
เยี่ยมเยือน ‘โมซัมบิก’ ไข่มุกงามแห่งกาฬทวีป เยี่ยมเยือน ‘โมซัมบิก’ ไข่มุกงามแห่งกาฬทวีป Reviewed by admin on 9:16 PM Rating: 5

No comments