แผนผลักดันไทยสู่ "เมดิคัลฮับ" ระยะ 20 ปี


ความหวังที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพทางการแพทย์นานาชาติครบวงจร” (เมดิคอลฮับ) ถูกจุดขึ้นในสังคมเมื่อปี 47 แต่ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนพัฒนานโยบายด้านนี้เดินไปอย่างช้าๆ มีเพียงโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งพยายามทำกันเอง แต่ล่าสุดรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้หยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งและนำมาใส่เป็น 1 ใน 10 เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีทั้งผู้ที่ขานรับและส่งเสียงค้านไปพร้อมกัน

ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในคณะทำงานเรื่องนี้ เปิดเผยว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจตัวใหม่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ของรัฐบาล หรือเมดิคอลฮับ จะมีการพัฒนาใน 4 กลุ่มสินค้า คือ

1. นวด สปา การฟื้นฟูสุขภาพ

2. การรักษาพยาบาล ที่ไม่ใช่เรื่องโรคติดต่อ แต่เป็นโรคเกี่ยวกับการรักษา เช่น เปลี่ยนข้อเข่า ช่วยเหลือบุคคลภาวะมีบุตรยาก โรคหัวใจ เป็นต้น

3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ เช่น พัฒนาสมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักของต่างชาติที่มาแล้วจะต้องซื้อกลับ และผลิตเครื่องมือแพทย์ใช้ในประเทศ และ

4. ศึกษาส่งเสริมการจัดประชุมด้านสุขภาพนานาชาติ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งแผนพัฒนานี้ได้ผ่านความเห็นชอบหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

ธงชัย ประเมินว่า ปัจจุบันสถานการณ์เมดิคอลฮับของไทย ทั้งเรื่องสปาและการบริการทางการแพทย์ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก เนื่องจากไทยมีจุดแข็งที่ได้รับมาตรฐานสากลรับรองหลายตัว เช่น มาตรฐานรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (HA) รวมถึงมีชื่อเสียงทางด้านคุณภาพ การบริการ และราคาที่สมเหตุสมผลถูกกว่าในต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการเมดิคอลฮับเฉลี่ย 1.2 ล้านครั้ง/ปี สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 1 แสนล้านบาท และเชื่อว่าไทยจะสามารถแข่งขันกับประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี อินเดีย ได้

ทั้งนี้ ในส่วนชาวต่างชาติที่มาใช้บริการในไทย ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มเดิมที่เป็นประเทศกลุ่มอาหรับ สแกนดิเนเวีย มาเป็นจีน และประเทศเพื่อนบ้านไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่ามาจากแนวโน้นที่ประชากรในประเทศเหล่านี้หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น พร้อมกับมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจภายใน

ดังนั้น แผนพัฒนาเมดิคอลฮับในยุทธศาสตร์ 20 ปี ตั้งแต่เรื่องของกลุ่มสุขภาพนวด สปา จึงต้องมีการควบคุมให้มีมาตรฐานเป็นสากล ไม่ว่าผู้ที่เข้ามาเรียนจะไปเปิดร้านที่ประเทศใด ต้องมีมาตรฐานเดียวกับประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ส่วนด้านการรักษาพยาบาลจะส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนไทยประสานธุรกิจกับต่างประเทศ เช่น หลังจากจีนมีนโยบายให้มีลูกเพิ่มได้ 1 คน จะไปรณรงค์ให้มาใช้บริการในไทย

นอกจากนี้ ยังรวมถึงเรื่องส่งเสริมการตรวจสุขภาพในราคาเดียว ส่วนผลิตภัณฑ์จะมีการค้นหาสุดยอดสมุนไพรไทย เพื่อให้ชาวต่างประเทศรู้จักสรรพคุณที่สุดยอด

สำหรับที่หลายฝ่ายกังวลว่า เมดิคอลฮับ จะทำให้สถานพยาบาลในประเทศขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่นั้น ธงชัย มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพของคนไทย เพราะปัจจุบันมีการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 3,000 คน/ปี และการรักษาที่ใช้ในระบบเมดิคอลฮับคือ การรักษาแบบใช้เทคโนโลยีสูง เช่น การใช้เทคโนโลยีช่วยให้มีบุตร สิ่งเหล่านี้จะไม่ทำให้กระทบกับการรักษาโรคทั่วไปของคนไทย และโรงพยาบาลของรัฐก็ยังคงดูแลคนไทยเป็นหลักอยู่

รองอธิบดี สบส. กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาเมดิคอลฮับของไทยในอนาคตเชื่อว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะมีแผนที่ครอบคลุมชัดเจน แต่สิ่งที่ต้องระวังคือจะต้องพยายามควบคุมคุณภาพและมาตรฐานให้คงไว้ พร้อมกับพัฒนาอยู่ตลอดซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ

ด้าน ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลานักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์อันดับต้นของประเทศไทยกลับมองว่า ไม่อยากให้นโยบายเมดิคอลฮับเกิดขึ้น เพราะจะทำให้ระบบค่ารักษาเป็นไปอย่างเสรี ไม่ใช่เป็นราคาที่เกิดขึ้นตามต้นทุน และทำให้สถานพยาบาลมีอำนาจชาร์จได้ตามอัตราต้องการ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่สถานพยาบาลเอกชน หากินกับบุคคลมีฐานะจากต่างประเทศ หลังจากหาในประเทศแล้ว

เมดิคอลฮับประโยชน์นั้นมีสำหรับสถานพยาบาลสถานเอกชน ทำให้มีเงินหลั่งไหลเข้ามา แต่ผลเสียก็มีเยอะเพราะจะทำให้สถานพยาบาลเคยชินกับการให้บริการคนไข้ที่มีฐานะร่ำรวย และชาร์จบิลตามขีดความสามารถของลูกค้ากลุ่มนั้น จะทำให้คนไทยทั่วไปลำบากขึ้น เนื่องจากจะถูกชาร์จในอัตราค่าบริการที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวว่า ทางแก้ปัญหานี้รัฐบาลไทยต้องมีการควบคุมราคาอย่างใกล้ชิด เพราะสภาพความเป็นจริงปัจจุบันไม่มีระบบควบคุมราคา ดังนั้นก็ควรทำและมีหลายวิธีที่สามารถควบคุมราคาได้

ส่วนสถานการณ์อนาคตของเมดิคอลฮับคิดว่ายังมีโอกาส แต่ส่วนตัวย้ำว่าไม่ตื่นเต้นและเป็นห่วง เพราะการที่สถานพยาบาลให้การรักษากับคนไข้ในอัตราค่าบริการสูง จะทำให้ระบบสุขภาพในเมืองไทยแพงขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นแพทย์จะต้องการมีรายได้ดีขึ้น เห็นได้จากเงินเดือนของแพทย์ปรับขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 2543 ส่วนหนึ่งมาจากพลวัตต่างประเทศ ทำให้ขณะนี้เกิดสถานการณ์การหลั่งไหลออกของแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐไปสู่โรงพยาบาลเอกชน

ดังนั้น ทางแก้เรื่องนี้รัฐบาลต้องขึ้นเงินเดือนอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาแพทย์ไว้ให้ได้ มิฉะนั้นอาจจะเป็นวิกฤตกับระบบสุขภาพของคนไทยโดยทั่วไป หรือหากจะอุดรอยรั่วของปัญหาวิกฤตครั้งนี้ อย่างไปสนับสนุนให้มีเมดิคอลฮับ

ธงชัย กีรติหัตถยากร
แผนผลักดันไทยสู่ "เมดิคัลฮับ" ระยะ 20 ปี แผนผลักดันไทยสู่ "เมดิคัลฮับ" ระยะ 20 ปี Reviewed by admin on 10:55 PM Rating: 5

No comments