4 สาเหตุอธิบายเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้


4 เหตุการณ์ย่อยที่เกิดขึ้น

ดร.อานนท์ได้อธิบายเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ว่า เกิดจากสถานการณ์ฝนตกหนักในหลายระลอก ซึ่งเริ่มเกิดมาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 จนถึงวันที่ 11 มกราคม 2560 เป็นระยะเวลา 11 วัน สามารถวิเคราะห์แยกได้ว่า มี 4 เหตุการณ์ย่อยเกิดขึ้นในปรากฏการณ์ครั้งนี้ คือ

1) ช่วงระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2559-2 มกราคม 2560 มีปริมาณฝนตกลงมามากในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ตอนล่างจนถึงมาเลเซีย จากอิทธิพลลมมรสุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

2) ต่อมาฝนเริ่มขยับมาตกบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ในระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม และตกหนักในช่วงวันที่ 4 มกราคม 2560 พร้อมกับการเกิด "หย่อมความกดอากาศต่ำ" ขึ้นบริเวณหัวเกาะสุมาตรา 

3) หย่อมความกดอากาศดังกล่าว เริ่มเคลื่อนเข้ามาชิดชายฝั่งบริเวณใกล้ จ.ภูเก็ต และมารวมตัวกับลมมรสุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดผ่านลงมาปกติ รวมเป็น 2 แรงที่หนุนให้เกิดฝนตกหนักมากแถบฝั่งอันดามันบริเวณ จ.ตรัง จ.กระบี่ด้วย ทั้งที่โดยปกติพื้นที่นี้เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

4) หลังจากนั้นหย่อมความกดอากาศต่ำได้เคลื่อนสู่บริเวณมะริด ประเทศเมียนมา ส่งอิทธิพลต่อลมมรสุมเคลื่อนที่ขึ้นสูงผ่าน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เริ่มหมดกำลังลงในวันที่ 10 มกราคม และเลี้ยวผ่าน จ.กาญจนบุรี ซึ่งไม่ผ่านทะเล ทำให้ความชื้นลดลง ปริมาณฝนจึงลดลงไปด้วย แต่ยังมีฝนอยู่เพราะยังเป็นช่วงฤดูฝนของภาคใต้ และยังมีลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ฝนจะลดลงและกระจายออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ

ต้นเหตุหย่อมความกดอากาศต่ำ

จาก 4 เหตุการณ์ย่อยที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะเห็นว่า เริ่มมีความผิดปกติจากการเกิด "หย่อมความกดอากาศต่ำ" ที่หัวเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีระดับน้ำทะเลตื้น จากปกติจะเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำลักษณะนี้ในอ่าวเบงกอลแล้วเคลื่อนขึ้นทางเหนือ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้คล้ายกับที่เกิดพายุหมุนนาร์กิส ในปี 2551 แต่ครั้งนี้มาเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำที่สุมาตรา ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุชัดเจนได้ว่าเกิดจากปัจจัยใด เพียงแต่วิตกว่าหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำอย่างนี้อีกในปีต่อ ๆ ไป จะกระทบต่อประเทศไทยอย่างมากโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้

"ผมตั้งข้อสังเกตว่า การเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำที่หัวเกาะสุมาตราอาจมาจากผลกระทบเศษเสี้ยวของปรากฏการณ์ลานิญาที่จบไปเมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายน2559ก็เป็นได้หรืออีกแนวคิดหนึ่งเห็นว่า อาจเกิดจากกระแสน้ำอุ่นปะทะกับกระแสน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย หรือที่เรียกว่า The Indian Ocean Dipole (IOD) ซึ่งทาง GISTDA ให้น้ำหนักกับปัจจัยนี้มากกว่า" ดร.อานนท์กล่าว

ผันแก้มลิงทำสนามบินนคร

ส่วนปริมาณน้ำในทุ่งที่มีปริมาณมหาศาลที่เห็นนั้นGISTDAคาดการณ์ว่าเกิดจากปริมาณฝนตกที่ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานหลายวัน ซึ่งตามปกติสามารถระบายน้ำฝนที่ตกลงมาออกสู่ทะเลทัน หรือไม่ก็สามารถเก็บไว้ใน "แก้มลิง" ได้

แต่ปัจจุบันมีการผันพื้นที่แก้มลิงไปเป็นที่อยู่อาศัย ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือ กรณีน้ำท่วมสูงในสนามบินนครศรีธรรมราช พื้นที่ตรงนั้นในอดีตเป็นแก้มลิงรองรับน้ำ แต่เมื่อเมืองขยายตัวออกมา การหาพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เหมาะสมเพื่อทำสนามบินเป็นไปได้ยาก จึงต้องใช้พื้นที่รับน้ำทำสนามบิน ส่งผลให้นครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบความเสียหายจากน้ำท่วมสูงสุดในครั้งนี้ เพราะแม้จะมีจำนวนพื้นที่รวมคิดเป็นสัดส่วนไม่มาก แต่หากแยกประเภทแล้ว พื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นพื้นที่เศรษฐกิจค่อนข้างมาก

"ถ้าเผื่อนำแก้มลิงไปทำเป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะจุดก็คงพอรับมือไหวแต่เมื่อทุกพื้นที่นำแก้มลิงไปจัดสรรใช้ทำอย่างอื่นหมดทุกคนก็ไม่อยากให้น้ำเข้าก็ต้องทำให้ไม่มีที่พักและระบาย ส่งผลให้น้ำเอ่อและท่วมพื้นที่ที่ไม่เคยท่วม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระดับสูง"

จัดสรรพื้นที่ปรับโมเดลรับน้ำ

หากรัฐบาลต้องการเตรียมมาตรการรับมือวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ให้ซ้ำรอยในอนาคตดร.อานนท์กล่าวว่าควรมุ่งเน้นการทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานทุกหน่วยและต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ซึ่งมีกฎหมายรองรับแตกต่างกันไป แต่ละหน่วยงานมีแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ เฉพาะด้าน เช่น แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ, แผนพัฒนาทรัพยากรทางทะเล, โดยแต่ละแผนพัฒนายังขาดความเชื่อมโยงกัน และที่สำคัญก็คือ ภาคใต้ยังไม่มีการแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

"บทเรียนครั้งนี้ทำให้เห็นว่า มีพื้นที่ภาคใต้บางจุด เช่น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเคยมีปัญหาอุทกภัย กลับเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี หรือในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งมีฝนตกติดต่อหลายชั่วโมงในวันที่ 9 มกราคม 2560 แต่สามารถระบายน้ำลงทะเลได้ดี ไม่มีปัญหา ดังนั้นรัฐบาลควรศึกษาพื้นที่เหล่านี้เป็นโมเดล และต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ได้"

วิเคราะห์แนวโน้มภัยแล้งปีนี้ไม่แรง

สำหรับสถานการณ์น้ำของประเทศในอีก3เดือนข้างหน้าก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งนั้นดร.อานนท์มองว่า ปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากเพียงพอเกือบทุกเขื่อน "ยกเว้น" เขื่อนภูมิพล ซึ่งภาคเกษตรน่าจะสามารถเพาะปลูกได้ดีกว่าปี 2559 โดยเฉพาะเขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำเพียงพอ และปัญหาน้ำเค็มรุกในหลายพื้นที่ไม่รุนแรง ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานต้องประเมินกันอีกครั้งหนึ่ง

น้ำท่วมทุบ GDP 0.1%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจผู้ประกอบการภาคใต้ 100 ราย ในพื้นที่ 12 จังหวัดที่ประสบวิกฤตการณ์น้ำท่วมพบว่า มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นประมาณ 22,365 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนผลกระทบต่อ GDP ทั้งประเทศ 0.1% ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก ขณะที่น้ำท่วมได้ส่งผลกระทบต่อ GDP ภาคใต้ 1.2% จากที่คาดการณ์จะขยายตัว 3.2% อาจจะเหลือเพียง 2%

ทั้งนี้ความเสียหายประกอบด้วย 1) ภาคการเกษตร 8,100 ล้านบาท แบ่งเป็น ยางพารา 4,400 ล้านบาท, ปาล์มน้ำมัน 500 ล้านบาท, ข้าว 950 ล้านบาท, ประมง 1,250 ล้านบาท, ปศุสัตว์ 1,000 ล้านบาท 2) ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม 10,860 ล้านบาท แบ่งเป็น อุตสาหกรรม 1,330 ล้านบาท-การค้า 3,160 ล้านบาท การท่องเที่ยว 3,960 ล้านบาท ภาคอื่น ๆ การขนส่ง 2,410 ล้านบาท 3) โครงสร้างพื้นฐาน (ถนน-ทางรถไฟ-สะพาน-บ้านเรือน) เสียหาย3,405 ล้านบาท ประเมินว่า ผลกระทบต่อธุรกิจจะกินเวลา 1 เดือนครึ่ง การฟื้นตัวปกติประมาณ 2 เดือน

อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
4 สาเหตุอธิบายเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ 4 สาเหตุอธิบายเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ Reviewed by admin on 11:40 PM Rating: 5

No comments