ความสำคัญทางเศรษฐกิจ CLMV ต่อประเทศไทย


พักนี้รัฐบาลย้ำว่านโยบายเศรษฐกิจระยะยาว ต้องทำให้ระดับการพัฒนาของประเทศสูงขึ้นอีกขั้นหนึ่งไปสู่ขั้น 4.0 นี่ก็ฟังเข้าที แต่เป็นการมองจากโลกเข้ามาเมืองไทย ตรรกะคือ: ยุคนี้โลกในส่วนก้าวหน้าที่สุดเขากำลังวิ่งไปสู่ 4.0 เราจึงจำต้องไปสู่จุดนั้น แข่งกับคนอื่นเขา ไทยต้องทำให้ได้ อย่าหยุดกับที่ รัฐบาลดูเหมือนจะกล่าวกับเราอย่างนั้น

ในเรื่องนี้ ถ้ามองตรงข้ามรัฐบาลบ้าง เพื่อให้เกิดสติปัญญา มองจากไทยไปสู่โลกแทน เริ่มจากจุดแข็งที่เรามีอยู่แทน อาจจะต้อง: เน้นการทำให้ประเทศเราเป็น "หลั่นล้าอีโคโนมี" ด้วย พูดอีกอย่างคือ ธุรกิจการงานและอาชีพที่ไทยควรจะเน้น อาจไม่ใช่อุตสาหกรรมไฮเทค อินโฟเทค หรืออะไรที่เป็น 4.0 เท่าไร หากควรจะเป็นเกษตร "บูติก" ควรจะเป็นการผลิตและการปรุงอาหาร การบริการ ท่องเที่ยว-บันเทิง ควรจะทำการดูแลและรักษาสุขภาพ การเสริมสร้างความสุข- ความงาม-ให้คนจากทั่วโลกได้มาชื่นชมวัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของเรา และกระทั่งการสร้างเสริมจิตวิญญาณ และขอย้ำว่าจะต้องพยายามทำด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับใช้ธุรกิจครอบครัวหรือชุมชนให้มากเป็นพิเศษด้วย

ตรรกะของ "หลั่นล้าอีโคโนมี" คือ : ไม่มุ่งไปแข่งในเวทีโลกที่เชื่อว่าเราไม่เก่ง คือ ไปทำ 4.0 แต่กลับมุ่งมั่นทำอะไรที่เชื่อว่าเป็นจุดแข็งของเราจริงๆ คือคนไทยเราชอบและเก่งในการทำอะไรทั้งปวงที่ "หลั่นล้า" คือ เก่งในการทำให้คนรู้สึกสบายๆ สนุกๆ เป็นสุข งดงาม เก่งในการทำอะไรให้อร่อย ไม่ทุกข์ร้อนอะไรมาก เราชอบยิ้ม ชอบหัวเราะ ชอบปลง เก่งเรื่องฝีมือ เรื่องหัตถกรรม มีกิริยามารยาท ดูแลคนได้เก่ง มีเมตตา มีไมตรีจิตมิตรภาพ มีน้ำใจ สุภาพเรียบร้อย โอบอ้อมอารี และไม่ถือสา เคืองโกรธใคร

การทำ 4.0 นั้น เราแค่ไม่ปฏิเสธ และรู้จักรับเอาเทคโนโลยีชั้นสูงที่คนอื่นๆเขาคิดเขาทำแล้ว รับเอามาทำต่อก็พอ ใช้เป็นเครื่องมือ ใช้ให้เป็นก็พอแล้ว ต้องยอมรับว่าคนไทยเราส่วนใหญ่นั้น ไม่สันทัดการสร้าง 4.0 เอง เพราะในเรื่องทฤษฎี และคณิตศาสตร์นั้น เราไม่สันทัด เรื่องการค้นคว้าวิจัย หรือ การทดลองทางวิทยาศาสตร์นั้นก็ไม่เก่งเท่าไร วิชาฟิสิกซ์ เคมี ชีวะ และคณิตศาสตร์นั้น โดยทั่วไปเราเข้าไม่ถึง แน่นอนครับมีคนเก่งที่เป็นข้อยกเว้นได้ แต่ถ้าเป็นในเรื่อง "หลั่นล้า" แล้ว ดูเราจะเก่งเป็นส่วนใหญ่ ใครๆก็ดูจะสู้เราได้ยาก การท่องเทียวบันเทิง และอาหารการกิน ของเราจึงมักติดอันดับต้นๆของโลกได้โดยง่ายดาย คนไทยมีพรสวรรค์ทาง "หลั่นล้า" นั่นเอง พูดอย่าง"ฟันธง"

นอกจากนั้น นโยบายเศรษฐกิจในยุคนี้ต้องสนใจภูมิเศรษฐศาสตร์ ใช้ทำเลที่ตั้งของไทยที่ดีเป็นเลิศใน AEC ดีมากในเอเชีย และดีมากในโลก ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ สร้างความพัวพันเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และ ดึงดูดพลังจากมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบัน ใกล้บ้านเรา อันมี จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ให้มาก ก็จะยิ่งทำให้ "หลั่นล้าอีโคโนมี" ของเราแผ่ออกไปบริการหลายประเทศ ได้แทบไม่หยุดยั้ง ลูกค้าหรือผู้รับบริการของเราอาจถึงร้อยล้านพันล้านคนทีเดียวก็ได้ในไม่ช้า ประเด็นคือ: จะต้องนึกเสมอว่าเศรษฐกิจไืทยรวมทั้ง "หลั่นล้าอีโคโนมี"นั้น ไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงแค่ในขวานทองเท่านั้น หรือขึ้นอยู่กับคน 66 ล้านคน เท่านั้น

พูดอย่าง"ฟันธง" ยุคนี้นโยบายเศรษฐกิจที่ดี จะใช้แต่ปัจจัยและความรู้ทางธุรกิจและเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่ได้ ต้องใช้ภูมิศาสตร์ ใช้ทำเลที่ตั้งอันเป็นเลิศของเราขยายตัวทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมออกนอกขวานทองของเราให้ "เต็มที่" ไป เลย ต้องตระหนักว่าที่ดิน แผ่นดิน และบุคคลิกหรือวัฒนธรรมแบบ "หลั่นล้า" ที่รับกันมาจากบรรพบุรุษ มาถึงยุคนี้แล้ว คือ "ทอง" คือ "เพชร"โดยแท้ จะหาประเทศใดเสมอเหมือนได้ยากมาก

ตรรกะของผม : นโยบายเศรษฐกิจที่ดีนั้น อย่ากังวลมากกับ "ข้อด้อย และความไม่พร้อม" ให้ทุ่มเท และลงทุนให้มากกว่าเป็นทบเท่าทวีคูณในการเอา "จุดแข็ง ข้อได้เปรียบ" มาใช้ให้ได้จะดีกว่า

ผมเพิ่งกลับจากเวียดนามและกัมพูชาครับ ได้เห็นชัดตลอดการเดินทางว่า วันนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่ดีนั้น จำต้องเอาเศรษฐกิจของเราเชื่อมโยงเข้ากับของ CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ให้ดีและให้มาก เป็นพิเศษ

ผมไปดูงานที่นั่นกับคณะนักศึกษาปริญญาเอกรัฐประศาสนศาสตร์ ม รังสิต รุ่นที่ 7 และที่สำคัญทริปนี้นำขบวนโดยอดีตเอกอัครราชทูตประจำพนมเปญและกงศุลใหญ่ ณ โฮจิมินห์ สมปอง สงวนบรรพ์ ซึ่ง ปัจจุบันเป็นคณบดีสถาบันการทูตของ ม รังสิต ในเที่ยวนี้ได้พบกับนักธุรกิจไทย ผู้ใหญ่ของพรรคในโฮจิมินห์ และคุยกว่าชั่วโมงกับรัฐมนตรีศึกษาธิการของกัมพูชา รวมทั้งได้นั่งรถบัสจากนครโฮจิมินห์มายังกรุงพนมเปญใช้เวลาเพียงห้าชั่วโมงเอง

บอกได้เลยว่าเราจำเป็นต้องเร่งสร้างทางหลวงมาตรฐานและเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลางที่เชื่อมสี่เมืองอันไดัแก่ กรุงเทพฯ-เสียมเรียบ-พนมเปญ-โฮจิมินห์ เข้าด้วยกัน กรุงเทพฯกับโฮจิมินห์นั้นประชากรในเมืองแห่งละสิบล้านคนขึ้นไป พนมเปญก็มีคนสามล้านเห็นจะได้ เสียมเรียบอันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมนั้น ก็เป็นประหนึ่ง "อัญมณีบนยอดมงกุฏ" ของมรดกโลกทั้งปวง เศรษฐกิจไทยที่โตเพียง 3-4 เปอร์เซนต์นั้น จะต้องเพิ่มพลังด้วยการเชื่อมโยงเข้าไปกับเขมรและเวียดนามที่เติบโต แม้ในช่วงนี้ที่ค่อนข้าง "ตกต่ำ" ก็ยังตกปีละ 7-8 เปอร์เซ็นต์ กัมพูชานั้นขนาดประชากรจะเข้าสู่หลักยี่สิบล้าน ส่วนเวียดนามจะเข้าสู่หลักรัอยล้าน ในเวลาไม่นานข้างหน้า

คำแนะนำ: จงอย่าพร่ำบ่นกันแต่ว่าเศรษฐกิจในรูปขวานของเราโตแค่ปีละ 3-4 เปอร์เซนต์ สาละวนกับการแก้ไขจุดอ่อน หากควรเอาเศรษฐกิจของเราไปดึงดูดพลังจากบรรดาเพื่อนบ้าน CLMV ที่เติบโตสูงต่างหาก พม่านั้นก็เติบโตสูงมาก สูงยิ่งกว่าเวียดนามเสียอีก และประชากรเขาก็กำลังเข้าสู่หลัก 70 ล้าน เรานั้นได้เปรียบดุลการค้ากับทุกประเทศใน CLMV คนใน CLMV นั้น ล้วนแต่นิยมสินค้าไทย อย่างไม่น่าเชื่อ เวียดนามในตอนนี้สั่งซื้อแม้กระทั่งรถไถนาจากไทย คนในประเทศ CLMV นั้น ชอบคนไทย ชอบหนัง-ละคอน-เพลง-ดาราไทย รักเมืองไทย มาเที่ยว มาเรียน มาทำงาน มารักษาตัวที่เมืองไทย เศรษฐีลาวและเขมรส่วนใหญ่นั้นมามีบ้านที่สองที่สามในไทยทั้งนั้น ส่งลูกหลานมาเรียนที่เมืองไทยมากมาย

ประเด็นคือ จากนี้ไปน่าจะต้องมีองค์กรและนโยบายพิเศษในทางเศรษฐกิจ-ต่างประเทศ-วัฒนธรรม กับ CLMV ให้ดี ประเทศเหล่านี้เดิมสำคัญกับเรามากทางความมั่นคง แต่ในปัจจุบันและอนาคตจะสำคัญยิ่งกับเราในทางเศรษฐกิจ ไม่แพ้ จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ครับ

เศรษฐกิจไทยในระยะยาวนั้นจะดีมากครับ ในระยะปานกลางก็ดีแน่ แต่เฉพาะหน้ายังมีปัญหา รอการแก้ไข ยังไม่ฟื้นเท่าที่ควร นโยบายเศรษฐกิจที่ดีนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แน่นอน ต้องสร้างสรรค์ ต้องทำจากจุดแข็งเราเองให้มาก ครับ

เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ CLMV ต่อประเทศไทย ความสำคัญทางเศรษฐกิจ CLMV ต่อประเทศไทย Reviewed by admin on 8:29 PM Rating: 5

No comments