ญี่ปุ่นส่งทีมนักวิชาการร่วมศึกษาปัญหา แก้ไขจุดเสี่ยงบนท้องถนนของไทย


กระทรวงคมนาคมร่วมกับประเทศญี่ปุ่น
ถอดบทเรียนแดนอาทิตย์อุทัยที่แก้อุบัติเหตุได้ผลจนน่าทึ่ง
นำมาใช้แก้จุดเสี่ยงอันตรายของไทย 4 จุด เป็นโมเดลอีก 137 จุด "ขาซิ่ง-สายเร็ว”
ฟังไว้ถนนไม่ใช่สาเหตุของปัญหา

บทสนทนาระหว่างเพื่อนฝูงบอกเล่ากันด้วยการใช้ความเร็วเกิน 120 กม.ต่อชม.บนทางหลวง
ทางด่วน (เกินกว่าที่กม.กำหนด ) แล้วถึงที่หมายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ถูกชูว่าเป็นผู้เยี่ยมยุทธในการขับขี่
ลืมคิดไปว่าฮีโร่สายเร็วฝ่าฝืนกฎหมายมา


....เรื่องเล่าในบรรทัดต่อมาถึงประเด็นการขับรถ
เมื่อคนไทยต้องไปขับรถในประเทศญี่ปุ่น
หรือประเทศในกลุ่มยุโรปมักใช้ความเร็วตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด
เพราะรู้ว่าโทษของการฝ่าฝืนนั้นอาจต้องเสียค่าปรับแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว

พฤติกรรมการใช้ความเร็วในการขับขี่ของคนไทยมีความย้อนแย้งการใช้ความเร็วตามกม.กำหนด
เป็นเรื่องดราม่ามาอย่างยาวนาน ทั้งโฆษณารถยนต์ที่ออกตัวว่าเครื่องแรง
แซงเหนือชั้นเติมเข้าไปอีก มีงานวิจัยว่าความเร็วของรถมีผลเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
หากขับรถด้วยความเร็ว 60 กม.ชม.แรงปะทะที่เกิดขึ้นจะเท่ากับรถที่ตกจากที่สูง
1เมตรหรือประมาณ 5 ชั้นของตึกความเร็ว 120 กม.ชม. จะเท่ากับตึกสูง 56 เมตร

การใช้ความเร็วเกินกม.กำหนดเป็นสาเหตุหลักอุบัติเหตุบนท้องถนน กรณีศึกษาที่เห็นชัด
ภาพความสลดหดหู่ของอุบัติเหตุรถบัสโดยสารในพื้นที่เขาพลึง จ.อุตรดิถต์
เมื่อเดือน พ.ย. 2559 มีสาเหตุมาจากกายภาพของถนนและพฤติกรรมผู้ขับขี่


“ทางการญี่ปุ่นส่งทีมนักวิชาการร่วมศึกษาลักษณะจุดเสี่ยงบนทางหลวงของประเทศไทยนั้น
ได้สรุปปัจจัยหลักในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
โดยส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากกายภาพถนน
ไม่ได้เกิดจากการสร้างถนนผิดหลักวิศวกรรมแต่อย่างใด
อีกทั้งอยู่ในขั้นถนนที่มีคุณภาพมากที่สุด
แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมผู้ขับขี่เกือบ 100%

เพราะเมื่อถนนมีช่องจราจรที่กว้างขึ้น วิ่งสบายมากขึ้น
รถก็จะใช้ความเร็วเพิ่มขึ้นอัตโนมัติ ส่วนใหญ่รถใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดที่
90 กม.ต่อชม. หรือเกิน 120 กม.ต่อชม. โดยประเทศญี่ปุ่นถนนทุกชนิดใช้ความเร็วไม่เกิน
80 กม.ต่อชม. อีกทั้งปัจจัยที่ทำให้คนใช้ความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากกฎหมายและการลงโทษยังไม่รุนแรงมากหนัก”

สุจิณ มั่งนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง (ทล.)
บอกเล่าหลังกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง
และการท่องเที่ยวญี่ปุ่นลงบันทึกข้อตกลงร่วมกัน
นำมาสู่ความช่วยเหลือจากปะประเทศญี่ปุ่นด้วยการ แก้ไขจุดเสี่ยงบนท้องถนนของไทย

ผู้อำนวยการสำนักอำนวยความปลอดภัย เล่าให้ฟังว่า
กระทรวงฯของญี่ปุ่นได้เก็บข้อมูลพบว่า ในปี ค.ศ.1992
มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นแต่ละปีไม่ต่ำกว่า14,000 คน
จึงกำหนดมาตรการลดอุบัติเหตุอย่างจริงจัง
พบว่าการเกิดอุบัติเหตุลดลงเหลือ 1 ใน 3 หรือประมาณ 3,400 คนต่อปีใน ค.ศ.2016
ซึ่งผลการลดอุบัติเหตุดังกล่าวสร้างความประหลาดใจให้กับคณะดูงานของไทยเป็นอย่างมาก

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้
ญี่ปุ่นมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมศึกษาดูงานและสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย
ซึ่งมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในหน้าเทศกาลสำคัญ
ทางผู้เชี่ยวชาญได้คัดเลือกจุดเสี่ยงที่เกิดเหตุบ่อยมากที่สุดในถนนของกรมทางหลวง 4 จุดจาก 141 จุดเสี่ยง ดังนี้
1. บ้านสาลี จ.สุพรรณบุรี ถนนมีลักษณะเป็นทางตรง เปิดเกาะหรือจุดกลับรถที่ตัดกระแสรถทางตรง
2. สะพานห้วยตอง จ.เพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นทางโค้งบนสะพาน
3. เขาพลึง จ.อุตรดิตถ์ มีลักษณะเป็นทางลาดชัน โค้ง
4. ถนนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น เป็นทางหลวงขนาด 10 ช่องจราจร รถใช้ความเร็ว

ทั้ง 4 จุดนั้นมีการคัดเลือกจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุ
และเลือกจากลักษณะทางที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง
ให้เกิดความหลากหลายเช่นทางโค้ง ทางแยก ทางตรง เป็นต้น

นายสุจิน กล่าวต่อว่า มีข้อแนะนำจากญี่ปุ่นว่าถนนในประเทศไทยมีศักยภาพที่ได้มาตรฐานเป็นอย่างมากแต่เนื่องจากถนนส่วนใหญ่ประเทศไทยเป็นถนนทางตรงทำให้มีการใช้ความเร็วมากขึ้น
ทั้งในเขตชุมชน ในเขตเมืองความเร็วไม่มีการควบคุมทำให้มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูง


แนวทางแก้ไขของญี่ปุ่นมีดังนี้
1. บริเวณทางโค้งให้เปลี่ยนจากสีเหลือง-ดำ
เป็นการทาสีขาวสลับแดงบริเวณผนังกันตกพร้อมวาดลูกศร แสดงสัญลักษณ์ทางโค้งให้เด่นชัด
2. ส่วนจุดที่เป็นทางลาดชัน
ให้ทาสีแดงทึบสร้างความหนืดบนถนน และเขียนคำด้วยอักษรสีขาว ว่า "ใช้เกียร์ต่ำ"
3. บริเวณทางตรง ทางพื้นทึบสีแดงเช่นกัน และเขียนคำด้วยอักษรสีขาวว่า "ลดความเร็ว"

“สีแดงในญี่ปุ่นนั้นมีความหมายคือการระวัง
จะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้พบเห็นและให้ระมัดระวังมากขึ้น พร้อมแนะนำการลดรณรงค์
ในเรื่องคาดเข็มขัด เปิดไฟหน้า ขับช้าๆ ซึ่งในญี่ปุ่นใช้มาตรการนี้จริงจัง”


จากข้อแนะนำดังกล่าวกรมทางหลวงนำไปใช้ในจุดเสี่ยงบริเวณเขาพลึง
โดยทาสีขาวสลับแดงบริเวณทางโค้ง เขียนตัวหนังสือใช้เกียร์ต่ำลงบนพื้นสีแดง
หลังจากแก้ไขตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาพบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนเขาพลึงเป็นศูนย์
เหมือนเทียบกับปีที่ผ่านมามักจะมีการเกิดอุบัติเหตุทุกเดือน เดือนละ 2-3ครั้ง

ทั้งนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม
สั่งการให้ติดตามผลการแก้ไขจุดเสี่ยงทั้ง 4 จุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์
อย่างใกล้ชิดหากได้ผล เตรียมขยายแก้ไขจุดเสี่ยงที่เหลืออีก 137 จุดทั่วประเทศไทย
พร้อมรณรงค์ 3 เรื่องให้ประชาชนอย่างเคร่งครัด
โดยขั้นตอนต่อไปประเทศญี่ปุ่นจะส่งผู้เชี่ยวชาญจากไจก้า
ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการลดอุบัติเหตุรับช่วงต่อดูสถิติการเกิดอุบัติเหตุหลังสงกรานต์
โดยจะเริ่มประชุมเดือนพ.ค. เพื่อเดินหน้าการลดอุบัติเหตุในเทศกาลต่อไป

สุจิณ บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นถนนทุกเส้นทางจะติดกล้องตรวจจับความเร็ว
หากพบรถขับขี่เกินที่กำหนดไว้ ญี่ปุ่นจะใช้มาตรการตัดแต้มแจกใบสั่งโดยใบสั่งใบแรก
คนกระทำผิดจะต้องเข้าอบรมครึ่งชม. ใบสั่งครั้งที่ 2 เพิ่มเป็น 1 ชม. พร้อมขึ้นศาล
ต้องเสียเวลาทำงานไปเลย 1 วัน เป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก


ด้าน น.ส.พัทธิยะ ศรีเนตร ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงอุตรดิตถ์ที่ 1
เพิ่มเติมในรายละเอียดของพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดอุตรดิถต์ว่า เขาพลึงเป็นทางโค้งลาดชัน
กว่า 10 โค้ง และยาวกว่า 3 กม. ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง
เนื่องจากใช้ความเร็วสูง รวมทั้งเคยเกิดอุบัติรุนแรงครั้งใหญ่มีรถทัวร์ตกเขาเสียชีวิต 18 ศพ

“เดิมถนนมีขนาด 2 ช่องไปกลับ ภายหลังขยายช่องทางเป็น 4 เลนไปกลับ กว้างเลนละ 3.2
เมตร ทำให้ใช้ความเร็วสูงขึ้น ที่ผ่านมามีการติดป้ายเตือนทางโค้ง
ทางลาดชันและจำกัดความเร็วเป็นตัวเลขและตัวอักษรจำนวนมาก
แต่เมื่อไปดูงานที่ญี่ปุ่นพบว่า มีป้ายมากกว่าของเราอีก
แต่เน้นป้ายที่สื่อเข้าใจง่าย เป็นรูปภาพทางโค้ง
ดีกว่าป้ายข้อความคนไม่สนใจขี้เกียจอ่าน”

แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ในอาเซียน
แต่ไม่ได้หมายความจะเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ที่ดีที่สุด
ในทางกลับกันเรากับได้คว้าสถิติประเทศที่ตายจากอุบัติเหตุเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากลิเบีย

ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงอุตรดิตถ์ที่ 1 บอกว่าแนวทางแก้ไขของญี่ปุ่น
แนะนำให้ลดความกว้างของถนนจาก 3.25 เมตรลง
ด้วยการตีเส้นใหม่ทำให้ช่องทางแคบลงและต้องลดความเร็วลงเองโดยอัตโนมัติเพราะช่องทางแคบง
รวมทั้งทำคอนกรีตแบริเออร์สูงกว่าเดิม จาก 80 ซม. ไม่มีเสาเข็ม เป็น 85 ซม.
บวกเสาเข็มและราวเหล็กรวมเป็น 120 ซม. (1.2 เมตร)
ป้องกันรถตกเขาและป้ายเตือนการใช้ความเร็ว หรือยัวร์สปีด ป้ายนำโค้ง
ปุ่มกระพริบใช้พลังงานจากโซลาร์เซล ปุ่ม 350 องศาบนพื้นถนนเพื่อเตือนให้ลดความเร็ว
การทาสีแดง และป้ายเตือนใช้เกียร์ต่ำ ลดความเร็ว เรียกว่าสารพัดป้าย

...ปรากฏว่าเมื่อปรับการแจ้งเตือนตามคำแนะนำของวิศวกรชาวญี่ปุ่น
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่าอุบัติเหตุลดลง30% ….

สำหรับพื้นที่จ.สุพรรณบุรี ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุแต่ไม่รุนแรงจนเป็นข่าวดัง
เหมือนกับ”เขาพลึง”
แต่อุบัติเหตุมีทุกวันฟังแล้วไม่น่าเชื่อว่าท้องถนนจะเปลี่ยนหน้าที่จากหนทางแห่งความสะดวกกลายเป็นเส้นทางสู่ความบาดเจ็บและตายมากกว่าวัตถุประสงค์แรก

จตุพล เทพมังกร ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสุพรรณบุรี 1 ให้รายละเอียดในส่วนของจ.
สุพรรณบุรีว่า ผลการศึกษาพบว่า จุดเสี่ยงบนทางหลวง 340 ตอนควบสาลี-สุพรรณบุรี
เป็นทางตรงยาว 29.5 กม. เขต อ. บางปลา-อ. เมือง ขนาด 10 ช่องทางไปกลับ
มีปริมาณรถมากวันละกว่า 1.5 หมื่นคัน ดูสถิติย้อนหลัง 4 ปี พบว่าเกิดอุบัติเหตุปีละ
ประมาณ 130 ครั้ง และเกิดอุบัติเหตุสูงใน 7 จุดซึ่งเป็นจุดกลับรถ
สาเหตุหลักคือรถใช้ความเร็วสูงเกิน 130-150 กม. โดยรถทางตรงเฉี่ยวชนรถที่กลับรถ
โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่ขับโดยผู้สูงอายุ ที่มักเบี่ยงออกซ้ายเพื่อเข้าถนนชุมชน
ทำให้ถูกชนท้าย

“ที่ผ่านมาจะติดป้ายจำกัดความเร็ว แต่ยังเกิดปัญหา
ญี่ปุ่นระบุว่าถนนเมืองไทยมีมาตรฐานดี แต่ปัญหาเกิดจากพฤติกรรมผู้ขับขี่
ใช้ความเร็วสูง และปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
ได้แนะนำให้ติดป้ายเตือนเพิ่มและใช้ป้ายที่สื่อสัญลักษณ์มากกว่าป้ายอักษรข้อความ
จะกระตุ้นและเข้าใจดีกว่า รวมทั้งเสนอให้ติดสัญญาณไฟ และสร้างอุโมงค์สะพานลดจุดตัด
แต่มีปัญหารถไม่สัมพันธ์คือรถทางตรงมีมาก แต่รถกลับรถมีไม่กี่คัน”


ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสุพรรณบุรีที่ 1 กล่าวว่าในปี 2561
ได้ของบประมาณติดตั้งไฟแดง สร้างสะพานและอุโมงค์บางจุด ขณะนี้ได้เพิ่มป้าย
วางแบริเออร์ไม่ให้เปลี่ยนเลนทันทีทันใดหลังการกลับรถ ป้องกันการชนท้าย ช่วงไหล่ทาง
และเน้นบังคับใช้กฎหมายร่วมกับตำรวจและผู้เกียวข้องตรวจจับความเร็วห้ามเกิน 90
กม.ต่อชม.รณรงค์ให้ความรู้เยาวชนและผู้สูงอายุเรื่องวินัยจราจร

เรื่องราวบนท้องถนนของประเทศไทย วันนี้ ถ้าขับรถดีอยู่ในกฏกติกา
ไม่ได้หมายความว่าคุณจะรอดพ้นอุบัติเหตุ
ตราบที่ต้องใช้ถนนร่วมกับคนไม่เคารพกฏหมายชีวิตจึงเสี่ยงไม่แพ้กัน....
เทศกาลสงกรานต์ขอให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านปลอดภัย


ญี่ปุ่นส่งทีมนักวิชาการร่วมศึกษาปัญหา แก้ไขจุดเสี่ยงบนท้องถนนของไทย ญี่ปุ่นส่งทีมนักวิชาการร่วมศึกษาปัญหา แก้ไขจุดเสี่ยงบนท้องถนนของไทย Reviewed by admin on 9:56 AM Rating: 5

No comments