วิธีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยของรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อนำมาปรับปรุงแผงลอยในไทย



1. ที่มาการจัดระเบียบ
- สิงคโปร์เคยมีหาบเร่แผงลอย (Hawker) จำนวนมาก ไม่ต่างกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชีย และก็มีปัญหาเช่นเดียวกันคือ เรื่องของการรุกล้ำทางเท้า ความสะอาดของอาหาร และถนนหนทาง การทิ้งขยะ และกากอาหารลงท่อระบายน้ำ ไม่ต่างจากบ้านเรา

- จนเมื่อปี ค.ศ. 1968-69 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มมีการจัดระเบียบ โดยออกกฎหมายให้หาบเร่แผงลอยต้องมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับทางรัฐบาล โดนยกเว้นให้เพียง อาชีพขายไอสครีม, ขายหนังสือพิมพ์, ช่างทำรองเท้า และ ช่างทำกุญแจ เท่านั้น

- การจัดระเบียบ คือจัดให้ผู้ค้าที่ขึ้นทะเบียน ไปตั้งอยู่ในจุดผ่อนผัน ที่ซึ่งการสัญจรของคนเดินถนนไม่พลุกพล่านมากนัก หรือในจุดจอดรถ และ ตามตรอกซอยซอก ในช่วงเวลาที่กำหนด

(ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็กำลังทำเช่นนี้)

- ในขณะเดียวกันก็มีการใช้เจ้าหน้าที่ออกปราบปราม กวาดล้างและจับกุม แผงลอยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือ แผงลอยเถื่อนต่างๆ (ทำแบบนี้ในบ้านเรา จะโดนข้อหารังแกคนจนแน่นอน...)


2. ศูนย์อาหารแผงลอย
- สองปีต่อจากการเริ่มจัดระเบียบอย่างจริงจัง ในปี 1971 รัฐบาลสิงคโปร์ ได้เริ่มทำการก่อสร้าง ศูนย์/ตลาดแผงลอย (Hawker center) และให้บรรดาผู้ค้าที่ขึ้นทะเบียนไปจับจองพื้นที่

- ในระหว่างปี 1971-1986 รัฐบาลสิงคโปร์ ทำการก่อสร้างที่ตั้งแผงลอย เพื่อให้การประกอบอาหารในแผงลอยที่กำหนดนั้นมีความสะอาดปลอดภัย ถูกหลักอนามัย รวมไปถึงมีการจัดการระบบกำจัดน้ำเสียและไขมัน ก่อนระบายลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ

- ศูนย์อาหารแผงลอยของรัฐ ดำเนินมาตั้งแต่นั้น จนกระทั้งในปี 2001 รัฐบาลสิงค์โปร์มีนโยบายยกระดับศูนย์อาหารแผงลอย ด้วยการทุ่มเงิน 420 ล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ (1 หมื่นล้านบาท) เพื่อยกระดับศูนย์ทั้ง 106 แห่งทั่วเกาะ

- ปัจจุบันสิงคโปร์มี Street Food ที่เป็นระบบ ระเบียบ มีการขึ้นทะเบียน มีการขายเฉพาะในจุดที่ให้ขาย มีระบบระบายน้ำเสีย/ของเสียที่ดี มีการกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ มากมาย


3. ข้อกำหนดและค่าเช่าที่
- ปัจจุบันแผงลอยทุกชนิดต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าแผงลอยใดไม่ขึ้นทะเบียน และไม่ทำตามกฎหมาย มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 ดอลล่าร์สิงคโปร์ หรือ 120,000-240,000 บาท

- 95% ของแผงลอยจะตั้งอยู่ในศูนย์แผงลอย (Hawker Centers) ส่วนอีก 5% จะเป็นเฉพาะที่ยกเว้นให้อยู่ภายนอกได้ เช่น รถเข็นไอสครีม รถเข็นขายหนังสือพิมพ์ และของที่ไม่ใช่อาหารสดที่เน่าเสียง่าย (Perishable food) (และไม่ทำให้เกิดของเสียสกปรกต่อสาธารณะ)

- อัตราค่าเช่าที่สำหรับแผงลอยต่างๆ ของสิงคโปร์นั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ (subsidized stall) และ ประเภทที่ไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ (non-subsidized stall)

- ประเภทที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐจะมีอัตราค่าเช่าต่ำกว่าประเภทที่สอง โดยประเภทนี้คือ ผู้ประกอบการแผงลอยที่รัฐให้ย้ายมาจากข้างถนน มายังศูนย์อาหารแผงลอย (โดยมากจะเป็นผู้มีรายได้น้อย)

- ซึ่งประเภทแรกนี้จะไม่สามารถโอนกิจการแผงให้คนอื่นได้ เจ้าของผู้ได้รับการลดหย่อนจากรัฐ ต้องมาดำเนินกิจการเอง ยกเว้นแต่ว่าอายุมากหรือเจ็บป่วย ก็อนุญาตให้คนในครอบครัวมาประกอบกิจการแทนได้

- โดยในสองประเภทนี้แบ่งย่อยเป็นอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มขายของทั่วไป และกลุ่มที่ขายอาหารที่ต้องมีการปรุง (cooked food)

A-1) ประเภทรัฐอุดหนุน กลุ่มที่ค้าขายทั่วไปอยู่ที่ 56-184 ดอลล่าร์สิงคโปร์ หรือ 1,340-4,400 บาทต่อเดือน
A-2) ประเภทรัฐอุดหนุน กลุ่มที่ขายอาหารที่ต้องปรุง ค่าเช่าอยู่ที่ 160-320 ดอลล่าร์สิงคโปร์ หรือ 3,800-7,600 บาทต่อเดือน

B-1) ประเภทรัฐไม่อุดหนุน กลุ่มที่ค้าขายทั่วไปอยู่ที่ 85-3,600 ดอลล่าร์สิงคโปร์ หรือ 2,100-86,000 บาทต่อเดือน
B-2) ประเภทรัฐไม่อุดหนุน กลุ่มที่ขายอาหารที่ต้องปรุง ค่าเช่าอยู่ที่ 300-4,900 ดอลล่าร์สิงคโปร์ หรือ 7,200-117,283 บาทต่อเดือน

4. ใบอนุญาตและการทดสอบ
- ผู้ประกอบการทุกรายต้องผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ได้รับการอนุญาต ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาหารที่ได้สุขอนามัย และในทุก 3 ปี ผู้ประกอบการจะต้องไปเข้ารับการทดสอบเพื่อต่อใบอนุญาต

- ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์มีการจัดอบรม การเป็นผู้ประกอบการทำอาหาร และการทำอาหารที่ถูกสุขอนามัย เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการสำหรับผู้ประกอบการด้วย


5. การให้เกรด/จัดอันดับ
- นอกจากต้องขึ้นทะเบียน จ่ายค่าเช่า และผ่านการทดสอบแล้ว ผู้ประกอบการแต่ละรายจะยังได้รับการจัดเกรดจากหน่วยงานภาครัฐ ว่าเป็นผู้ขายอาหารเกรดไหน ซึ่งมีตั้งแต่เกรด A-B-C-D

- โดยที่เกรด A จะต้องมีคะแนนประเมินตั้งแต่ 85% ขึ้นไป ส่วนต่ำสุดคือ D จะมีคะแนนประเมินอยู่ที่ 40-49% และที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการทุกราย ต้องติดเกรดไว้หน้าซุ้มขายอาหาร เพื่อให้ผู้ซื้อทราบด้วย

- ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก และเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการขายอาหาร มีการพัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอด ไม่ใช่สักแต่ขายไปวันๆ เพราะคิดว่าผู้บริโภคต้องมาง้อตัวเอง...

6. แต้มคาดโทษ
- สิงคโปร์ใช้ระบบที่เรียกว่า "Demerit" กับร้านขายอาหารแผงลอย Demerit หมายถึง ข้อบกพร่อง/การทำการไม่ถูกไม่ควร (merit หมายถึงบุญ หรือ การทำความดี demerit = การทำเรื่องแย่ๆ)

- ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เคร่งครัดมากในเรื่องนี้ จนนำมาสู่การใช้ระบบการคาดโทษ (demerit system) ผู้ค้ารายใดที่ทำผิด จะโดนคาดโทษและปรับเงินด้วย

- ถ้าขายอาหารสกปรก ทำให้คนท้องเสีย และทำให้มีการระบาดของเชื้อโรคในซุ้มขายอาหาร จะโดนภาคทัณฑ์ 4 แต้ม พร้อมปรับเงิน 400 ดอลล่าร์สิงคโปร์ (9,500 บาท)

- ถ้าไม่มีการป้องกันวัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร (เช่น มีกระจกหรืออุปกรณ์ป้องกัน) และไม่มีการรักษาความสะอาดของซุ้มขายอาหารที่ดี โดนคาดโทษ 3 แต้ม และปรับเงิน 300 ดอลล่าร์สิงคโปร์ (7,200 บาท)

- ถ้าไม่แสดงใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการขายอาหารแผงลอยให้เห็นชัดเจนที่หน้าตู้แผงลอย ไม่โดนแต้มคาดโทษ แต่โดนปรับเงิน 200 ดอลล่าร์สิงคโปร์ (4,800 บาท)

- ถ้าภายในหนึ่งปี โดนแต้มคาดโทษตั้งแต่ 12 แต้มขึ้นไป จะโดนพักใบอนุญาตประกอบการ 2 สัปดาห์ถึง 4 สัปดาห์ (1 เดือน) ไปจนถึงถูกยึดใบอนุญาต หากพบว่ามีการทำผิดซ้ำซากและไม่แก้ไข

อ้างอิงจาก: Hawker policy in Singapore เอกสารปี 2014 ของรัฐบาลฮ่องกงที่ทำการวิเคราะห์การจัดระเบียบของสิงคโปร์ เพื่อนำมาปรับปรุงในแผงลอยฮ่องกง

กิตติธัช ชัยประสิทธิ์
วิธีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยของรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อนำมาปรับปรุงแผงลอยในไทย วิธีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยของรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อนำมาปรับปรุงแผงลอยในไทย Reviewed by admin on 4:44 AM Rating: 5

No comments