ทางรอดของ "ชนชั้นกลาง” ตอนที่ 1


ชนชั้นกลาง (Middle Class) เป็น กลุ่มที่มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาเช่น ประเทศไทย ชนชั้นกลางทั่วโลกถูกท้าทายมาตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมาแต่ตำแหน่งชนชั้นกลางกำลังมีชีวิตที่ "ยากลำบาก" มากขึ้น

นิยามของชนชั้นกลางโดยกว้าง ๆมักจะเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา มีวิชาชีพติดตัว ชีวิตอยู่สะดวกสบายแต่ไม่สามารถฟุ่มเฟือยได้มากนัก ส่วนมากจะมีบ้านเป็นของครอบครัว มีไลฟ์สไตล์เฉพาะตัว อาจชอบดื่มกาแฟ ร้านอาหาร ท่องเที่ยวเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ฯลฯ รวมถึงมีความเชื่อที่เหมือนๆ กับ "คนกลุ่มใหญ่" ในสังคม เช่น การประสบความสำเร็จ ต้องหางานทำดี มั่นคง เป็นเจ้าคนนายคน

ประเทศกำลังพัฒนาเกือบทุกประเทศจะมีการขยายตัวของคนชั้นกลาง เช่น จีน ชนชั้นกลางขยายตัวจาก 15% สู่ 62% ในช่วงเวลาแค่สิบกว่าปี (จาก The Economist)พ่อแม่ของคนกลุ่มนี้จะส่งเสียลูกๆ ให้มีการศึกษาสูงๆ และประเทศก็กำลังต้องการแรงงานจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ คนจึงขาดแคลน และคนกลุ่มนี้ก็เข้ามาสู่ระบบแรงงานพอดีในช่วงพัฒนาประเทศ จึงสามารถ "ไต่เต้า" ขึ้นมาตำแหน่งสูง ในองค์กรได้ ระบบสวัสดิการยุคแรกก็ยังคงแข็งแรง เพราะยังไม่มี "ตัวหาร" หรือคนที่เกษียณก่อนหน้า กลุ่มคนที่เกษียณในชนชั้นกลางกลุ่มแรกๆ แม้ไม่ได้ "ร่ำรวย" มาก แต่ก็ "มีความสุข" ได้รับสวัสดิการที่ยอดเยี่ยม และอยู่ได้อย่างสบายๆ ตลอดชีวิต

แต่พอประเทศเริ่มพัฒนาก้าวขึ้นมาถึงจุดหนึ่ง ดูเหมือนกลยุทธ์ "เรียนสูงๆ" จะใช้ได้ลำบากขึ้น เพราะ "การศึกษา" ไม่ได้เป็นปัจจัยที่การันตีความสำเร็จอีกต่อไป เพราะมีคนจบปริญญาจำนวนมาก ดังนั้นพีระมิดของแรงงานยุคใหม่จึงมีฐานกว้างกว่าเดิม คนกลุ่มใหม่ จึงต้องใช้ "เวลา" มากกว่าเดิมในการก้าวสู่ระดับสูงในบริษัท ยิ่งไปกว่านั้น ระบบสวัสดิการก็ยากลำบากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายสูงกว่าแต่แรกมาก

ดังนั้นทำงานจนเกษียณและมีองค์กรเลี้ยงดูจึงเป็นภาพในอดีต ตัวอย่างบริษัทที่ประสบปัญหาเหล่านี้ คือ Kodak Eastman ที่ต้องแข่งขันในธุรกิจกล้องดิจิทัลที่ทดแทนฟิล์มแล้ว ส่วนหนึ่งคือต้นทุนการดูแลพนักงานเกษียณของ Kodak สูงมาก

ในเชิงสถิติศึกษาเรื่องคนชั้นกลางในอเมริกาเคยมีสัดส่วนรายได้ของทั้งระบบเศรษฐกิจ 62% ตั้งแต่ยุค 1960 และลดเหลือ 45% ช่วงทศวรรษ 2000 (จาก Business Insider) ทั้งที่คนชั้นกลางมีสัดส่วนสูงขึ้นมาก รายได้ก็สวนทางค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในแง่รักษาระดับมาตรฐานครองชีพ 

แม้ว่า "สินค้า" บางอย่างจะมีราคาถูกลงกว่าแต่ก่อน เพราะการผลิตที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่ถูกจากประเทศกำลังพัฒนา แต่ค่าใช้จ่ายในบางหมวดก็สูงขึ้นเช่น ต้นทุนการศึกษา การแพทย์ ในอดีตเราอาจจะเคยเห็น "พี่เลี้ยงเด็ก"ในอเมริกา แต่ปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ที่อยู่อาศัยก็มีราคาสูงขึ้น คนรุ่นใหม่ในอเมริกาจึงมีแนวโน้มอยู่กับพ่อแม่และไม่มีลูก 

ประเทศไทยมีแนวโน้มเดียวกัน และอาจจะยิ่งหนักกว่าเพราะประเทศกำลังติดกับดัก Middle Income Trap เพราะขาดนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน พร้อมไปกับการเข้าสู่สังคมวัยชรา คนรุ่นใหม่อาจต้องแบกรับภาษีมากขึ้นไปอีก ซึ่งบั่นทอนความสามารถการแข่งขันระยะยาว 

อีกเรื่องที่สำคัญ คือโลกในยุคใหม่ เลือกแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจด้วยการฉีดเงินเข้าระบบ เช่น ทำ QE ให้ "มูลค่า" ของเงินลดลง เงินเดือนเราก็ลดลงทางอ้อม เมื่อเทียบกับบางสิ่ง เช่น ราคาธุรกิจ (ราคาหุ้น) ราคาที่ดินแพงขึ้นรวดเร็ว หุ้นมีราคา PE เฉลี่ยสูงจาก 10 เท่า ขึ้นไปสู่ 20 เท่า และดูเหมือนหุ้นจะมีโอกาสแพงอีกยาวนาน 

ในอดีตเราอาจจะได้ยินสำนวน "ที่ดิน" เท่าแมวดิ้นตาย ตอนนี้อาจจะกลายเป็นคอนโดฯ กลางอากาศห้องเล็ก ที่แมวอาจจะดิ้นไม่พอ และราคาก็จะสูงหลายล้านบาท ด้วยเงินเดือนเฉลี่ยปัจจุบันอาจจะทำให้ "ชนชั้นกลาง" ต้องผ่อนหนี้บ้านตลอดชีวิต ใช้เงินเดือนชนเดือน การเอาเงินล่วงหน้ามาใช้ เช่น ผ่อนบัตรเครดิต

ทางรอดของ "ชนชั้นกลาง” ตอนที่ 1 ทางรอดของ "ชนชั้นกลาง” ตอนที่ 1 Reviewed by admin on 12:03 PM Rating: 5

No comments