พิศวงแผ่นดินและทะเลไทย


ผมยิ่งเดินทางและยิ่งพิศดูแผนที่ไทยและเพื่อนบ้านมากเท่าไร ยิ่งพิศวงและอดสงสัยในหลายอย่างหลายประเด็นของภูมิประเทศ และวิชาภูมิศาสตร์ของไทย ขอนำมาเล่าสู่กันฟังคร่าวๆ



แรกสุด ทำไมเราเรียกชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ว่า "ภาคตะวันออก" เพราะในความจริงนั้น พระอาทิตย์ขึ้นเหนือขอบฟ้า ให้แสงแรกแก่เมืองไทยนั้น จะสาดใส่ด้านตะวันออกของภาคอีสานก่อนเพื่อนนะครับ แถวอุบลและดินแดนที่ติดฝั่งแม่น้ำโขงแหละครับ ควรเปลี่ยนเรียกภาคตะวันออกว่าภาคตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนอีสานเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรับรู้กันให้ทั่วว่าดินแดนที่อยู่ทางด้านตะวันออกที่สุดของประเทศคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคอีสานนั้น ถ้าเดินทางด้วยเครื่องบิน จะเป็นภาคที่ใกล้จีนที่สุด ไม่ใช่ภาคเหนือ ภาคเหนือนั้นใกล้จีนทางบกครับ แต่ถ้าเดินทางทางอากาศแล้วอีสานต่างหากคือภาคที่ใกล้จีนที่สุด เพราะอะไร เพราะเมืองทั้งหลายของจีนนั้นส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บินไปจีนนั้นส่วนใหญ่ต้องหันทิศสู่ตะวันออกเฉียงเหนือครับไม่ใช่ภาคเหนือ

ภาคตะวันตกของไทย มักจะหมายถึงราชบุรี กาญจนบุรี แต่ในความจริงประเทศไทยแทบไม่มีภาคตะวันตก มีด้ามขวานที่ยาวลงมาจากด้านตะวันตกของภาคเหนือไล่ลงมาจนถึงเมืองกาญจนบุรี และต่อลงแนวคาบสมุทรภาคใต้ จะพบว่าอยู่ในแนวตะวันตกเดียวกัน เกือบเท่ากันหมด ถ้าจะควานหาภาคตะวันตกจริงๆ นั้น ควรนับรวมภาคนี้ขึ้นไปจนถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะดีกว่า

ถ้าดูแผนที่ ท่านจะอดยิ้มไม่ได้ว่าดินแดนที่ตะวันตกที่สุดของไทยกลับไม่ได้อยู่ในภาคตะวันตก หากไพล่ไปอยู่ที่แม่ฮ่องสอนของภาคเหนือ น่าสังเกตว่าเมืองกาญจน์ที่เรียกว่า "ชายแดนตะวันตก" นั้นมีระดับความเป็นตะวันตกพอๆ กับลำพูน ตาก และเชียงใหม่เท่านั้น แต่ไม่ตะวันตกเท่าแม่ฮ่องสอน

กล่าวแปลกๆ แปร่งๆ ได้อีกอย่างหนึ่งว่าภาคเหนือนั้นเป็นภาคตะวันตกด้วย ลมดีเปรสชันหรือลมมรสุมที่พัดพาฝนมาตกที่ยังภาคเหนือนั้น ที่จริงมาจากทะเลเดียวกันที่ติดจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันและที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองกาญจนบุรี สังเกตว่าภาคเหนือด้านตะวันตกโดยเฉพาะแม่สอดและตากนั้นไม่ไกลทะเลอันดามันของพม่าเลย

ส่วนภาคตะวันตกนั้นบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ที่ดูเป็นเมืองบกเมืองเขา ทอดมาทางตะวันออกเฉียงใต้ถึงสมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ซึ่งดูเป็นเมืองทะเลของอ่าวไทย จริงๆ แล้ว ดินแดนในสี่จังหวัดที่กล่าวมาไม่ไกลจากทวายที่ติดอันดามันของพม่าเลย ดินแดนแผ่นนี้เชื่อมสองฝั่งทะเลสองฝั่งสมุทรได้ เชื่อมทางบกระหว่างทะเลอันดามันของประเทศพม่ากับอ่าวไทยของเรา

อ่าวไทยของเรานั้น ไม่ได้เป็นของไทยประเทศเดียว มันเชื่อมภาคตะวันออกของไทยเข้ากับฝั่งทะเลของเขมรและเวียดนามบริเวณแหลมญวนได้ด้วย มันเชื่อมกับภาคใต้ของไทยได้ด้วย มันเชื่อมกับรัฐทางด้านตะวันออกของคาบสมุทรมลายูได้ด้วย และที่น่าทึ่งกว่านั้น หากตัดทางบกจากทวายมาลงอ่าวไทยได้เมื่อไร มันก็จะเชื่อมไปได้จนถึงทะเลอันดามันและเมืองของพม่าที่อยู่ติดฝั่งอันดามันได้อีก กล่าวได้ว่าศักยภาพของภาคตะวันออกและอ่าวไทยนั้นยังจะมีอีกมากมายจนสุดคณานับ

ภาคใต้ของไทย พูดไปในที่อื่นๆ มากแล้ว ขอเติมให้อีกเพียงสองเรื่อง เรื่องแรกภาคใต้ของไทยเชื่อมกับเขมรและเวียดนามทางทะเลได้ด้วย ภาคใต้กับเขมรนั้นเดิมใกล้ชิดกันมากด้วยการเดินเรือในอ่าวไทย งานบุญเดือนสิบของปักษ์ใต้ที่สืบไม่ได้ว่าเอามาจากไหนนั้น ตอบได้ว่าน่าจะเอามาจากเขมรแต่โบราณกาล ทุกวันนี้ในเขมรก็ยังมีบุญเดือนสิบ และมีชื่อบ้านนามเมืองในภาคใต้ที่เป็นภาษาเขมรไม่น้อย เช่น สทิงพระ เป็นต้น

ภาคใต้ไม่เพียงใกล้ช่องแคบมะลักกาทางฝั่งอันดามันเท่านั้น หากยังใกล้พนมเปญและโฮจิมินห์ทางทะเลและทางอากาศ อ้อ ยังอยู่ใกล้กับอินโดนีเซียมากๆ ด้วย แต่ไม่ใช่กับเกาะชวา หากใกล้กับเกาะสุมาตรา ซึ่งเกาะนี้มีเมืองอาเจะห์อันอยู่ใกล้กับสตูลมาก และยังมีเมืองเมดาน ซึ่งมีประชากรอยู่กว่าสามล้านคน ก็อยู่ไม่ห่างไกลจากสามจังหวัดภาคใต้ของเราเท่าไร


สุดท้ายขอเพิ่มเติมว่า "ปากทางเข้า" ช่องแคบมะลักกา หากจะถือสิงคโปร์เป็นปลายสุดของช่องแคบแล้ว ไม่ได้มีสตูลรวมอยู่เป็นปากเท่านั้น หากยังรวมกระบี่ ตรัง ภูเก็ต ด้วย ก็ได้ และควรถือว่าช่วงหนึ่งประวัติศาสตร์ของจังหวัดปากทางเข้าช่องแคบนี้เกาะเกี่ยวมิใช่น้อยกับวิวัฒนาการของ Straight Settlement of Malacca (เขตปกครองเมืองท่าในช่องแคบมะลักกา) ของจักรวรรดิอังกฤษที่มีเมืองปีนัง เมืองมะลักกา และเมืองสิงคโปร์ รวมอยู่ด้วยกันในอดีต ดังจะเห็นได้ว่าบรรพชนคน "ฮกเกี้ยน" ที่มาอยู่ในจังหวัดเหล่านี้ ล้วนเป็นเครือญาติวงศ์วานเดียวกับกลุ่มที่ไปอยู่ใน Strait Settlement of Malacca นั่นเอง มาพร้อมๆ กัน บ่อยครั้งในเรือเดินสมุทรเดียวกัน จากมณฑลเดียวกันของจีน

เอนก เหล่าธรรมทัศน์
พิศวงแผ่นดินและทะเลไทย พิศวงแผ่นดินและทะเลไทย Reviewed by admin on 11:03 AM Rating: 5

No comments