ทรัมป์กับบูรพาภิวัตน์
ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา โลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว โลกตะวันตก อันหมายถึงอเมริกา ยุโรป แต่รวมถึง แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่นด้วย อ่อนกำลังลง เศรษฐกิจโตช้าหรือไม่โตเลย ประเทศเหล่านี้ขาดดุลการค้า ดุลการชำระเงิน และขาดดุลการคลัง มีหนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือนสูงท่วมท้น สหรัฐกลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก ยุโรปเป็นอันดับสอง ในขณะที่โลกตะวันออกกลับเจริญรุ่งเรือง ผงาดขึ้นมาในทางเศรษฐกิจ เติบโตเร็วมาก ติดต่อกันหลายทศวรรษ ได้เปรียบดุลการค้าดุลการชำระเงินและดุลการคลัง กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก ซึ่งประเทศตะวันออกเหล่านี้มีจีน อินเดีย เกาหลีใต้ อาเซียน ตุรกี อิหร่าน รวมถึงประเทศต่างๆ ที่อยู่รอบอ่าวเปอร์เซีย และอีกหลายประเทศในอัฟริกา และอีกหลายประเทศในทวีปละตินอเมริกา
ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและการเงินการคลังของโลกตะวันตก ทำให้นโยบายต่างประเทศในสมัยโอบามาต้องปรับตัวและยั้งคิดใหม่หลายต่อหลายครั้ง จะเห็นอเมริการีบเร่งในการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานและอิรัก พยายามจะไม่ถลำลึกเข้าไปรบด้วยกำลังทหารในลิเบีย มุ่งใช้แต่การรบทางอากาศและทางทะเล ไม่กล้ารุกเข้าสู่ซีเรียแม้จะจับได้ว่าอัสซาดใช้อาวุธเคมี และตัองรอมชอมกับรัสเซียในปัญหาซีเรีย ไม่กล้าเข้าไปประจันหน้าทางการทหารกับรัสเซียในยูเครนและไครเมีย ส่วนที่ใกล้บ้านเรา คือ ในทะเลจีนใต้และจีนตะวันออกนั้น ก็หลีกเลี่ยงไม่กล้าเข้าไปช่วยฟิลิปปินส์ เวียดนาม และญี่ปุ่น มากนัก เพราะเกรงจะขัดแย้งทางการทหารกับจีน
นโยบายต่างประเทศตั้งแต่ต้นของโอบามานั้นพยายามจะ "หันทิศสู่เอเชีย" โดยเฉพาะหันมาคาน หรือ มาทัดทานจีน คู่แข่งหรือคู่ปรับ"ตัวจริง" โอบามาเห็นว่าการต่อสู้กับจีน "ต่างหาก" จะกำหนดอนาคตของสหรัฐและโลกในอนาคต สหรัฐพยายามผละจากบริเวณที่ "ไม่สำคัญและไม่จำเป็นแล้ว" เช่น อัฟกานิสถาน อิรัก (รบชนะแล้ว) และ ตะวันออกกลาง (สหรัฐไม่ได้พึ่งนำ้มันจากบริเวณนี้แล้ว) และจะออมกำลังไม่รบไม่ขัดแย้งกับใครโดยไม่จำเป็น และระดมกำลังทั้งหมดที่มีอยู่มาหยุดยั้งหรือ "จัดการ" กับจีนที่กำลังเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจและการทหารให้ถนัดมือ
นโยบายของฮิลลารี คลินตัน ก็เป็นไปในแนวเดียวกับโอบามา แต่จะทำให้ชัดเจนกว่าและหนักหน่วงกว่า อาณาบริเวณสำคัญของการต่างประเทศและการทหารของสหรัฐจะต้องเป็นจีน เอเชียตะวันออก อาเซียน และเอเชีย ซึ่งดินแดนทั้งหมดนี้ เป็นหัวใจทางเศรษฐกิจของโลกตะวันออกแห่งยุคบูรพาภิวัตน์ให้ได้
ชัยชนะยิ่งใหญ่ใครคาดไม่ถึง ของนายดอนัลด์ ทรัมป์ ทำให้แผนการ "หันทิศ" มาสู่เอเชียน่าจะล้มลงไปเสียแล้ว ทรัมป์อาจจะทำสองอย่างนี้แทน คือ หนึ่งจะลดบทบาทการต่างประเทศลงมากที่สุด หันมาสร้างอเมริกาเองให้แข็งแกร่งรุ่งเรืองขึ้น ลดภาระการเป็น "ตำรวจโลก" ลดบทบาทและงบประมาณ ลดฐานทัพ และกำลังทหารสหรัฐในต่างประเทศ รวมทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หรือ ยุโรปลงให้มากที่สุด ทุ่มเทสรรพกำลังมาเยียวยาตนเองให้มากที่สุด สอง แต่ถ้าถูกยั่วยุ หรือท้าทาย และรุกล้ำ ก็อาจจะรีบใช้ความเด็ดขาดหุนหันพลันแล่น ตอบโต้ด้วยกำลังทหารอย่างหนักหน่วง เพราะในด้านการทหารนี้ เป็นอะไรที่สหรัฐยังได้เปรียบประเทศอื่นใดมากโข สหรัฐจะไม่อดทน ใช้การทูต จะไม่เยือกเย็น สุขุม รอบคอบ เหมือนโอบามาอีกแล้ว
ดังนั้นในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์นี้ สหรัฐจะขัดแย้งกับจีนในเรื่องการค้าการลงทุนหรือการเงิน แต่จะไม่กดดันและประชันขันแข่งกับจีนในทางการต่างประเทศ ความมั่นคง และการทหาร จะไม่สนใจหรือทุ่มเทสร้างพันธมิตรเพื่อมาทัดทานหรือปิดล้อมจีน จะไม่สนใจกับการต่อต้านรัสเซียในยุโรป เท่าไร หัวใจนโยบายต่างประเทศของสหรัฐจะยังอยู่กับการต่อสู้ขับเคี่ยวกับบรรดาพวกก่อเหตุรุนแรงหรือก่อเหตุร้ายชาวมุสลิม รวมทั้งไอซิส เป็นหลัก การขยับหรือผละตัวออกจาก "ตะวันออกกลาง" อาจยังทำไม่ได้
ประเทศไทยจะไม่ถูกกดดันให้ร่วมถ่วงดุลหรือต้านทานจีน เราจะอยู่สบายตัว สหรัฐจะยุ่งกับเราน้อยลง น่าจะเลคเช่อร์เราน้อยลง การทำ TPP จะถูกยกเลิกไป สหรัฐในสมัยทรัมป์จะสนใจเอเชียและอาเซียนนัอยลง จะปล่อยให้อยู่กันเองและอยู่กับจีนเองมากขึ้น ซึ่ง ไทยก็ไม่เดือดร้อนอยู่แล้ว ความที่เราเองไม่มีชายแดน และทะเลติดกับจีนด้วย ส่วนเวียดนามและญี่ปุ่นนั่นแหละที่จะถูกกระทบในทางลบจากการที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีมากที่สุด สหรัฐจะไม่สนใจหนุนหรือช่วยสองชาติอำนาจนี้ในความขัดแย้งทางทะเลที่มีกับจีน ส่วนฟิลิปปินส์นั้น จัดว่าโชคดี ได้ประธานาธิบดีดูแตร์เตมาปรับท่าทีกับจีนไปแล้ว เวลานี้ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับจีนแล้ว และมาเลเซีย ก็รอดตัวไปเพราะไม่ได้เดินตามฟิลิปปินส์และเวียดนามไปเผชิญหน้าหรือขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้
อาเซียนจะสำคัญขึ้น ในยุคทรัมป์ การถ่วงดุลกับจีน ถ้าจะมี ย่อมจะอาศัยอาเซียนมากขึ้น ญี่ปุ่น เวียดนาม ตัองลดการเผชิญหน้ากับจีน และพยายามอาศัยอาเซียนเป็นสะพานเชื่อมใจกับจีนมากขึ้น เกาหลีใต้จะยิ่งใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น และหากสหรัฐเกิดลดกำลังทหารในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ลง ญี่ปุ่นเองอาจจะต้องหันมาเป็นมิตรกับจีนมากขึ้น ในสภาวะที่อเมริกาไม่หันมาสู่เอเชียและอาจผละออกห่างขึ้นอีกด้วยซ้ำ จีนจะตัองหันมานุ่มนวลอ่อนโยนและสุภาพกับเอเชียด้วยกันให้มากขึ้น เราอาจมาถึงยุคที่เอเชียต้องอยู่กันเองมากขึ้น
ทรัมป์และอเมริกา จะไม่ส่งผลลบอะไรที่สำคัญกับไทย การมีทรัมป์ไม่มีผลเสียหายต่อไทย น่าจะดีกับไทยขึ้นด้วยซ้ำ แต่ในยามนี้ก็ต้องไม่ "โผ"เข้า "กอด" จีนอย่างน่าเกลียดเช่นกัน มิตรไมตรีที่มีกับอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ยังจะต้องรักษาให้ดี และเราจะต้องมีบทบาทที่เหมาะสมถูกต้องกับอาเซียนอยู่ต่อไป
สรุป ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ไทยน่าจะดีขึ้น สบายขึ้น อิสระขึ้น ในทางการต่างประเทศ แต่ต้องทำให้เป็น
ทรัมป์กับบูรพาภิวัตน์
Reviewed by admin
on
9:09 AM
Rating:
No comments