ว่าด้วยเรื่องข้าว - ทางรอดของชาวนาไทย
จากที่อธิบายเรื่องราคาข้าว ทุกคนจะได้เข้าใจนะครับว่า ราคาข้าวนี่ไม่ได้มามั่วๆ ไม่ใช่นึกจะได้เท่าโน้นเท่านี้ เอาตามใจตัวเองไม่ได้ นอกเสียจากว่า ชาวนายินดีจะเป็นส่วนนึงกระบวนการโกงชาติ ยอมให้ชาติเสียหาย เพื่อตัวเองได้ประโยชน์ ซึ่งกรรมมีจริงครับ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
มา!!! เรามาพูดถึงทางออกจากวงจรอุบาทว์นี้กันดีกว่า หลักการที่ผมคิด คือ ชาวนาไม่ใช่ขอทาน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ต่างจากหมอ วิศวะ ครู หรือทุกๆ อาชีพ ชาวนาไม่ใช่ภาระของประเทศ ไม่ต้องสงสาร ไม่ต้องสมเพศ เราเอาตัวรอดได้ เคลียร์ป่ะ???
เรื่องแรกที่สำคัญที่สุด คือ จัดการเรื่องน้ำ อันนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องดำเนินการปฏิรูปการใช้น้ำในภาคการเกษตรเลย ทำทั้งประเทศเลยครับ ทำระบบการส่งน้ำทางท่อ โดยรัฐลงทุนเรื่องนี้ ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่า เราจะมีน้ำมาปลูกพืชผักเพียงแค่เปิดก๊อก น้ำมีส่งมาตลอดเวลา ซึ่งถ้าลงทุนเฉลี่ยไร่ละ 2,000 บาท พื้นที่ทำนาประมาณ 52 ล้านไร่ ก็ แสนล้านบาท เงินเยอะครับ แต่ทำครั้งเดียวจบ ใช้ได้ยันลูกหลานเหลนเลย ในหลวงท่านทำให้เห็นมาตลอด 70 ปีครับ ว่าการจัดการน้ำนี่สำคัญ ตอนนี้ ถึงเวลาที่ต้องทำให้เป็นรูปธรรมแล้ว ทำเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ไปพร้อมกันเลย
กรมชลประทาน มีรายละเอียดเรื่องคลองส่งน้ำ คลองแยก คลองซอย คลองไส้ไก่หมดแล้ว เราก็วางท่อไปตามแนวคลองพวกนี้ครับ ให้โฉนดที่นาทุกแปลงมีท่อน้ำไปถึง ขนาดท่อก็ซัก 3-4 นิ้วก็พอครับ มีปั๊มเพื่อช่วยสูบและผลักเร่งการไหลของน้ำ ท่อเมนจะมา 1 เมตร หรือ เล็กกว่านั้นก็ว่ากันไป นาทุกแปลงมีมิเตอร์วัดการใช้น้ำ ถ้าเป็นไปได้ ควบคุมการเปิด-ปิดจากศูนย์กลางเป็นโซน โซนละ 10,000 - 20,000 ไร่ก็ว่ากันไป เกษตรกรรายไหนอยากได้น้ำ โทรเข้าศูนย์ ศูนย์จะแจ้งได้เลยว่า น้ำจะเปิดให้เมื่อไหร่ นานแค่ไหน ถึงจะเต็มแปลง จัดคิวการส่งน้ำให้พอเหมาะ จะไม่เกิดการแย่งน้ำกัน ไม่ต้องเอาน้ำผ่านนา และที่สำคัญไม่ต้องสูบน้ำแล้ว ลดต้นทุนค่าน้ำมันสูบน้ำให้ชาวนาได้ทันที
และไหนๆ ก็มีท่อไปแล้ว แถมไฟ 3 เฟส (พร้อม Neutral ด้วย) ไปพร้อมกันกับท่อเลย ถ้าจะทิ้งน้ำหรือสูบน้ำจากบ่อในแปลง ก็ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าสูบเอา ให้เกษตรกรจ่ายค่าไฟตามที่ใช้ แบบนี้จะสุดๆเลย ไปนอนเฝ้านาจะได้เอาพัดลมไปเปิดเป่าพุงให้เย็นสบาย จะกระจายให้ครอบคลุมถึงการทำเกษตรอื่นด้วยก็ดีครับ คราวนี้ จะเข้าสู่ยุคทองของการเป็นมหาอำนาจด้านการเกษตรกันแล้ว
แต่เรื่องนี้ รอให้นักการเมืองทำให้ ไม่มีทางครับ เพราะเค้าต้องเก็บภาคการเกษตรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ลำบากครับ ไว้ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเข้ามาหาประโยชน์ สร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองและพวกพ้อง ภายใต้เสื้อคลุมที่โก้หรูว่า "ประชาธิปไตย" กินกันเต็มที่แล้วก็โยนเศษกระดูก เศษอาหารนิดๆ หน่อยๆ ให้เกษตรกร พอได้ประทังชีวิตกันไป จะได้เห็นว่าพวกมัน คือทางรอดของเกษตรกร บอกซ้ายบอกขวา ต้องเชื่อนะ ตัวอย่างชัดๆ ก็ละครดราม่านารีซื้อข้าวที่เพิ่งออนแอร์ไปนี่แหล่ะครับ แต่ถ้าเกษตรกรรวย มีเงินทอง มีฐานะ จะไม่เห็นประโยชน์ของนักการเมืองแล้ว ทำให้ปกครองไม่ได้ ดังนั้น เรื่องที่มีประโยชน์กับคนหมู่มาก ที่ยั่งยืนแบบที่ในหลวงทำ จะไม่มีทางเกิดขึ้นในช่วงที่นักการเมืองดูแลประเทศครับ
เรื่องที่สอง พอมีน้ำให้เกษตรกรได้ตลอดเวลาแล้ว เกษตรกรเป็นมนุษย์คนนึงครับ เค้าจะเรียนรู้การเอาตัวรอดได้เอง ชาวนาเองก็ต้องยกระดับมาเป็นเกษตรกร ต้องปรับตัวเองจากการปลูกข้าวอย่างเดียว มาทำพืชตัวอื่นด้วย เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น ใครอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม น้ำหลาก ก็ปลูกพืชอื่นครับ เช่น บัวหลวง หรือ แห้ว พอหมดน้ำก็ค่อยมาทำนา เพราะแค่เปิดก๊อก น้ำก็ไหลเข้าแปลงแล้ว แค่นี้ ข้าวนาปีของภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็จะไม่มาชนกับข้าวในนาภาคกลางแล้ว นี่ผมไม่ได้พูดถึงข้าวเคมี ข้าวอินทรีย์อะไรทั้งสิ้นนะครับ แค่ทำให้รอบการปลูกข้าวเหลื่อมกันโดยธรรมชาติ ก็ลดปริมาณข้าวในแต่ละช่วงลงแล้ว พอทำพืชอื่นด้วย ก็ลดพื้นที่การปลูกลง ปริมาณข้าวก็ลดลงไปด้วย แล้วพอเลือกพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้นด้วย รายได้จากการขายข้าวก็ดีไปด้วย ทั้งหมดนี้ มาจากการจัดการเรื่องน้ำเท่านั้นนะครับ เมื่อก่อน ที่ชาวนาภาคกลางต้องเฮโลทำนาพร้อมกันทั้งภาค เพราะไม่รู้ว่า น้ำจะมีให้ทำรึเปล่า ฝนมาแล้วก็ต้องทำ น้ำท่วมน้ำหลาก เดี๋ยวค่อยไปวัดดวงเอา มันเลยเจอปัญหา ข้าวเปียก ข้าวชื้น ข้าวล้ม ข้าวแช่น้ำ ให้มาทนทุกข์ระทมกันแบบนี้ แต่ถ้าทำตามข้อหนึ่งได้ในสามปีห้าปี ปัญหานี้จบตลอดไปครับ
เรื่องที่สาม จำกัดการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์และพืชน้ำมัน ทำเรื่องนี้จะช่วยเกษตรกรได้เต็มๆ เลย จากโพสต์ที่แล้วที่ผมพูดถึงการขายผลพลอยได้จากการสีข้าว ที่จะมาช่วยหนุนราคาข้าวเปลือก แต่พอมีคนอนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศมาทำอาหารสัตว์ได้ เพราะรายได้จากการขายผลพลอยได้พวกนี้ จะลดลง หวยเลยมาออกที่ราคาข้าวเปลือก ชาวนารับเคราะห์ไปเต็มๆ หรือว่า การนำเข้าถั่วเหลือง GMO มาทำน้ำมันถั่วเหลือง เราจะทำไปเพื่อ??? ทั้งๆ ที่เราสีข้าวได้รำมามากมาย สามารถเอามาผลิตน้ำมันรำข้าวที่คุณสมบัติดีกว่าน้ำมันถั่วเหลืองทุกมิติ อันนี้จะว่าเป็น protectionism ก็ต้องยอมครับ เพราะเค้าทำกันทั้งโลก พอเราลดการซื้อจากเมืองนอก ก็จะเกิดการปลูกในประเทศ พืชพวกนี้จะสามารถปลูกได้หลังเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้ว เกษตรกรในภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็สามารถปลูกได้ ปัจจุบันก็ทำกันอยู่นิดหน่อย เพราะนำเข้าถูกกว่า ใครจะปลูกหล่ะครับ ปลูกแล้วขายไม่ได้เนี่ย แต่พอจำกัดการนำเข้า ก็ต้องมาปลูกกันในประเทศแล้ว ทุกอย่างก็จะดีขึ้น ภาคกลางก็ปลูกข้าวนาปรังไปสิครับ หอมปทุมปลูกได้ทั้งปีอยู่แล้ว ซื้อในประเทศให้หมดซะก่อน ไม่พอค่อยเปิดให้นำเข้าเป็นครั้งคราวไป ส่วนที่กลัวว่าจะทำข้าวโพดล้างผลาญนั่น ก็ดำเนินการให้เด็ดขาดครับ สมบัติของชาติ อย่ามามักง่ายยึดครองเป็นของตัวเอง อย่าอ้างว่าจนแล้วจะอะไรก็ได้ คุณไม่ได้จนครับ แต่คุณโลภ เลยเป็นเครื่องมือให้นายทุนที่โลภหนักกว่า ใช้เป็นเครื่องมือ
เรื่องที่สี่ เกษตรกรต้องมาเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ครับ เพราะว่า อันนี้จะทำให้คุณมีชีวิตอยู่ได้ แม้ขายข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเหลือง หรือพืชอื่นๆ ไม่ได้ เพราะคุณมีอาหารอยู่รอบบ้านคุณ จัดการพื้นที่รอบๆ บ้านในพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่ ให้มีอาหารพอเพียงสำหรับครอบครัว ถ้าเกินพอก็ค่อยแบ่งปัน หรือจำหน่าย สร้างรายได้พอให้มีใช้ในแต่ละเดือน แต่เอาจริงๆ เกินพอครับ ได้มากเท่าที่อยากได้เลย เช่น มีกล้วยตัดได้อาทิตย์ละเครือนี่ อาทิตย์ละ 200 บาทแล้ว เดือนละเกือบพัน พอค่าน้ำค่าไฟอยู่แล้ว ตะไคร้ กระเพรา โหระพา ชะอม มะเขือ ฟักทอง ข้าวโพดหวาน ฯลฯ เราเสกเงินขึ้นจากดินได้ครับ อย่าไปเอาเงินจากการขายข้าว มาซื้อทุกอย่างที่ต้องกิน ปลูกข้าวกินเองในครอบครัวนี่ ไร่เดียวก็เกินพอครับ ทำให้ประณีตสุดๆ เน้นๆ ไปเลย
เรื่องที่ห้า ลดต้นทุนการทำนา และเพิ่มผลผลิต ไร่นึงต้นทุนต้องไม่เกิน 3,000 บาท ยิ่งไม่มีค่าน้ำมันสูบน้ำ น่าจะไม่ยากครับ เริ่มลงมือทำได้ทันที อย่างแรกคือ เลิกเผาฟางครับ ใช้จุลินทรีย์ย่อยฟางให้เป็นปุ๋ยกลับคืนในแปลงนา ทำปุ๋ยหมักกันในแปลงนาเลย ไม่เกิน 2 อาทิตย์ก็เรียบร้อยครับ อันนี้ทำได้ทันทีเลย จะสามารถลดการใช้ปุ๋ยได้ 200 บาททันที อย่างที่สอง ลดข้าวปลูกลง หว่านไร่ละ 5 กก ผมมีรูปแสดงเปรียบเทียบให้เห็นครับ จากโรงเรียนชาวนาโดย อ.สุวัฒน์ ทรัพยะประภา Suwath Sapyaprapa ที่จัดที่อ่างทองเมื่อปีที่แล้ว ว่าผลผลิตที่ได้ไม่ต่างกัน แต่ต้นทุนต่างกันครับ กำไรก็ต่างกัน อย่างที่สาม ใส่ปุ๋ยให้พอเหมาะ และตรงตามที่พืชต้องการ ไม่ใช่หลับหูหลับตาหว่านแต่ยูเรีย หรือ 16-20-0 เพราะทำตามกันมาแบบนี้ เป็นหนี้กันมาแบบนี้ ก็ต้องทำต่อไป มันไม่ใช่!!!! มาศึกษาหาความรู้ครับ จะได้เอาตัวรอดได้ อย่างที่สี่ ปัจจัยการผลิตอะไรที่ทำเองได้ ทำครับ เช่นข้าวปลูก สามารถเก็บและพัฒนาพันธุ์เองได้ ทำนา 30 ไร่ หว่านไร่ละ 5 กิโล ใช้ข้าวปลูก 150 กก ปลูกเองไร่เดียวก็เหลือเฟือแล้ว ทำโรงงานปุ๋ยเอง ในรูปแบบของหมูหลุม สามารถไปดูงานได้จากกลุ่มหมูหลุมราชบุรี Supoj Singtosri เลี้ยงหมูเพื่อเอาปุ๋ยหมักจากขี้หมูและแกลบไปใช้ในนา ขายหมูได้เงินอีกต่างหาก สมุนไพรป้องกันโรคและแมลง ฮอร์โมนบำรุงต้นข้าว ทำเองได้ทั้งนั้น ปลอดภัยไร้สารพิษด้วย อย่างที่ห้า เพิ่มผลผลิตครับ เมื่อระบบน้ำสั่งได้ตามใจแล้ว เราสามารถใช้ระบบ Alternate Wet Dry (AWD) หรือ System of Rice Intensification (SRI) มาช่วยกระตุ้นให้ระบบรากของข้าวดีขึ้น หากินเก่งขึ้น และช่วยเพิ่มผลผลิตได้ อย่างที่หก ดึงศักยภาพของต้นข้าวมาให้ได้เต็มที่ ยกตัวอย่างข้าวหอมปทุมเนี่ย 1 ตร.ม. มี 500 รวง 1 รวงมี 200 เมล็ดที่สมบูรณ์ น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ดหนัก 25 กรัม ทำแบบนี้ได้ทุกตร.ม. ไร่นึงนี่ 4 ตันนะครับ ฝันไว้ครับ ฝันให้ไกล แล้วลงมือทำไปเรื่อยๆ
เรื่องที่หก รวมกลุ่มเกษตรกรครับ ไม่จำเป็นต้องทำอย่างเดียวกันหมด หลากหลายอย่างก็ได้ เพราะจะได้เชื่อมโยงกันภายในกลุ่ม ปลูกข้าว ปลูกถั่วเหลือง ปลูกหญ้า เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา แปรรูปผลิตผลการเกษตร โรงสี ตลาดสด ร้านอาหาร มารวมกันครับ นี่มันเกือบครบวงจรในชุมชนแล้วนะครับ มันเป็นการขยายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กว้างขึ้นเป็นระดับชุมชน จะเป็นตำบล หรืออำเภอ ก็ว่ากันไป แต่พูดตรงๆ ยากมากครับ ไม่รู้เป็นเพราะอะไร แต่ถ้าเกิดการรวมกลุ่มกันได้ระดับนี้ จะมีกำลังมากเลยครับ อยากจะทำโรงอบข้าว หรือเมล็ดพันธุ์ จะทำห้องเย็นเก็บผลผลิตการเกษตร จะมีรถบรรทุกขนส่ง รถโฟล์คลิฟต์ สามารถร้องขอการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นได้ครับ เพราะว่า พอเรามีเงินมีทอง มีคุณธรรม มีความสุข เราจะเป็นคนควบคุมนักการเมืองครับ พอกันทีกับการใช้เงินทิ้งๆ ขว้างๆ ของนักการเมืองท้องถิ่น
เรื่องที่เจ็ด ถ้าอยากช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการขายผลิตผลทางการเกษตรเองโดยตรงให้ผู้บริโภค ก็ให้รัฐสั่งให้ไปรษณีย์ไทยลดค่าขนส่งผลผลิตการเกษตรแบ่งบรรจุเรียบร้อยมาคิดแค่ ก.ก. ละ 2 บาทครับ จะเป็นข้าว เป็นถั่ว เป็นแป้ง หัวเผือกอะไรพวกนี้ ผมคิดเอาเองว่า ถ้ามีของพวกนี้หมุนเวียนกันซักปีละ 2 ล้านตัน รายได้เข้าไปรษณีย์ไทยปีละ 4,000 ล้านบาท แบบนี้ไม่รู้ว่าใครช่วยใครนะครับ
ผมว่า ทำแค่นี้แหล่ะ อย่าเยอะเลย ทำเท่านี้ ความสุขก็ล้นทะลักประเทศแล้ว แล้วนักการเมืองจะมีไปทำไมเนี่ย??? อ๋อ!!! มีไว้มาทำเรื่องเสียๆ หายๆ ฉุดความเจริญของประเทศ เดี๋ยวเราจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโดดเด่นเกินไป
This post is about how to get off from this vicious circle.
1. Irrigation management.
2. Crop management
3. Raw material of livestock feed control
4. Sufficient Economy philosophy.
5. Cost reduction and increasing productivity
6. Cooperation in community.
7. Parcel delivery cost reduction
มีฟาร์มสุข ไม่จำกัด
ว่าด้วยเรื่องข้าว - ทางรอดของชาวนาไทย
Reviewed by admin
on
1:49 AM
Rating:
No comments