'การทูตรถไฟ' ผลักดันระบบรถไฟไทยก้าวไปข้างหน้า


สำนักข่าวแชนแนล นิวส์ เอเชียของสิงคโปร์ วิเคราะห์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าบริษัทที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีรถไฟจากทั่วโลก จะมุ่งแข่งขันในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่รัฐบาลเตรียมทุ่มงบประมาณมหาศาลยกระดับระบบการคมนาคมทางรางทั่วประเทศ ซึ่งการแข่งขันนี้จะช่วยผลักดันให้ระบบรางรถไฟของไทยก้าวไปข้างหน้า

สำนักข่าวแชนแนล นิวส์ เอเชียของสิงคโปร์ได้เผยแพร่บทความที่มีชื่อว่า "การทูตรถไฟ ทำให้แผนพัฒนาระบบรางรถไฟของไทยเดินหน้าไปได้" (Rail diplomacy puts grand plans for Thailand's railway on track) ซึ่งระบุว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบรางรถไฟ โดยภายใน 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเพิ่มระยะทางของระบบรางรถไฟจาก 4,000 กิโลเมตร เป็น 10,000 กิโลเมตร เพื่อขยายศักยภาพในการขนส่งสินค้า ซึ่งกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่าภายในปี 2022 การขนส่งสินค้าทางรางจะเพิ่มเป็นร้อยละ 5 ของการขนส่งสินค้าทั้งหมด

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเตรียมขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร โดยมีแผนจะสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 10 สาย โดยในจำนวนนี้มี 2 สายที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ในเมืองใหญ่หลายเมือง ก็เริ่มมีการถกเถียงเรื่องการสร้างรถไฟฟ้าแล้วเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลไทยยังมีโครงการสร้างรถไฟความเร็วปานกลางและรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายระบบรถไฟในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโครงการนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทต่างชาติ ที่มีความชำนาญด้านระบบรถไฟเป็นอย่างมาก

1. ความร่วมมือไทย-จีน


เมื่อปลายปี 2014 รัฐบาลไทยมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทร่วมกับจีน โดยทางรถไฟสายนี้จะมีความยาวกว่า 800 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างพรมแดนไทย-ลาว ที่จังหวัดหนองคาย กับกรุงเทพ และไปถึงท่าเรือน้ำลึกในภาคตะวันออก ซึ่งในตอนแรก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศต่างเห็นชอบที่จะเริ่มสร้างทางรถไฟสายนี้เมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นฝ่ายไทยและจีนกลับมีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้โครงการถูกชะลอออกไป

โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ไทยกับจีนมีความเห็นต่างกันในเรื่องของกระบวนการสร้าง โดยฝ่ายไทยต้องการให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการสำรวจแนวเส้นทางสำหรับการวางรางเสียก่อน แต่ฝ่ายจีนต้องการให้สร้างเลย ซึ่งนายอาคมเชื่อว่า ต้องใช้เวลาสักระยะในการเจรจา

ขณะที่รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ หัวหน้าสาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะฝ่ายไทยและจีนมีแนวทางในการสร้างทางรถไฟที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ผู้นำของทั้งสองประเทศต่างไม่พอใจ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องทางเทคนิคและความปลอดภัย ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ โดยเขามั่นใจว่าความล่าช้าไม่ได้เกิดจากการที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ

2. ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น


รัฐบาลไทยและบริษัทจากญี่ปุ่นได้ทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และภาคตะวันตก-ภาคตะวันออก โดยก่อนหน้านี้ บริษัทอีสต์ แจแปน เรลเวย์ หรือเจอาร์ อีสต์ ของญี่ปุ่น ได้เป็นผู้พัฒนารถไฟฟ้าสายสีม่วงของไทย

โดยเจอาร์อีสต์ ได้ร่วมมือกับบริษัทมารูเบนิและโตชิบา ในการนำเทคโนโลยีรถไฟฟ้าของญี่ปุ่น ทั้งระบบปฏิบัติการและการซ่อมบำรุงมาใช้ในไทย และเนื่องจากเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นไม่ค่อยถูกเผยแพร่สู่ประเทศอื่นๆ ทางเจอาร์อีสต์ จึงมีความตั้งใจเป็นอย่างมากที่จะให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมญี่ปุ่น ที่จะถูกนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ ต่อไป

โดยนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นสายแรกที่ใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น ขณะที่ในอดีตระบบขนส่งมวลชนของไทยมักใช้เทคโนโลยีของบริษัทซีเมนส์ ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเยอรมัน

3. ความร่วมมือไทย-ยุโรป


เมื่อปี 2016 กระทรวงคมนาคมของไทยและเยอรมนีได้ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบรางรถไฟ นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระบบรางรถไฟระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยกับออสเตรียด้วย

นายเฆซุส มิเกล ซันซ์ เอสโกรีอวยลา เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เปิดเผยว่ายุโรปตระหนักดีว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะอัดฉีดเงินลงทุนมหาศาลลงในระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบรถไฟ ซึ่งนายเอสโกรีอวยลาเชื่อว่ายุโรปเองก็มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และมีความประสงค์ที่จะร่วมแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องนี้กับประเทศต่างๆ ในอาเซียน

นักสังเกตการณ์ต่างแสดงความวิตกว่า ขณะนี้ไทยมีจำนวนแรงงานมีฝีมือและวิศวกรระบบราง ไม่เพียงพอต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของระบบรถไฟที่กำลังจะเกิดขึ้น

โดยศุภมาศ ศิริกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมระบบรางประจำรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดเผยต่อสำนักข่าแชนแนล นิวส์ เอเชียว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยในไทยหลายแห่งเริ่มสอนเกี่ยวกับระบบรางรถไฟแล้ว แต่มหาวิทยาลัยเหล่านี้ยังคงขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ ขณะที่เพื่อนร่วมงานของเธอระบุว่า นักศึกษาจบใหม่จำเป็นต้องเข้ารับการอบรมอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานและซ่อมบำรุงระบบรถไฟได้

การแข่งขันดีต่อระบบรถไฟไทยหรือไม่?


ขณะนี้รัฐบาลไทยยังคงเปิดกว้างต่อการเสนอราคาแข่งขันของบริษัทจากหลายประเทศ เพื่อให้ได้ระบบรถไฟที่มีราคาถูก โดยนายอาคมกล่าวว่า แม้ไทยจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนและญี่ปุ่น แต่ในภาพรวมไทยยังคงเปิดกว้างสำหรับการร่วมมือกับนานาประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ประเทศในเอเชียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงยุโรปด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาเตือนว่า แม้ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่บริษัทที่มีความชำนาญจากหลายประเทศ สนใจที่จะร่วมลงทุนพัฒนาในประเทศไทย แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี เพื่อบูรณาการระบบรถไฟทั้งหมดเข้าด้วยกัน และบูรณาการระบบรถไฟเข้ากับระบบการคมนาคมอื่นๆ

สลิสา ยุกตะนันทน์
'การทูตรถไฟ' ผลักดันระบบรถไฟไทยก้าวไปข้างหน้า 'การทูตรถไฟ' ผลักดันระบบรถไฟไทยก้าวไปข้างหน้า Reviewed by admin on 10:07 AM Rating: 5

No comments