วังจันทร์วัลเล่ย์ ความเป็น 4.0 ที่แท้จริง เห็นได้ จับต้องได้ เรียนรู้ได้ ชื่นใจได้ จะเกิดขึ้นที่ EECi




วันหยุด เขียนเรื่องยาวเหยียดให้เพื่อนธรณ์อ่าน หนนี้จะพาไปดู EECi และความเป็นไปได้สำหรับเมืองไทยยุค 4.0 วังจันทร์วัลเล่ย์ EECi ของอย่างนี้ก็มีในเมืองไทย

เชื่อว่าเพื่อนธรณ์คงรู้จักคำว่า Disruptive Technology ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลก ทั้งดิจิตัล พลังงานยุคใหม่ โรบอติก ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราได้ยินส่วนใหญ่จะเป็นข่าวบ้างคลิปบ้าง
บอกว่าเมืองไทยกำลังต้องการบุคลากรยุคใหม่ เตรียมการอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อไปอนาคต

ปัญหาคือเราไม่ค่อยเห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จับต้องได้
เราเห็นแต่โครงการขายฝัน บางหนก็หวั่นใจ มันจะเป็นไปได้เหรอ ?

หรือสิ่งที่เห็น ส่วนใหญ่ก็เป็นงานสาธารณูปโภค/ของสำเร็จรูป เช่น
รถไฟไฮสปีด 3 สนามบิน รถไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่นำเข้ามา ฯลฯ

ของพวกนั้นช่วยด้านการเดินทาง/ลดก๊าซเรือนกระจก ให้รู้สึกถึงความไฮเทค
แต่ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนรากฐานประเทศ พาเมืองไทยให้ก้าวทันยุคพลิกโฉมของโลก

เพราะมันก็เป็นแค่การก่อสร้าง/การซื้อเข้ามาเหมือนเช่นเดิม
ผมจึงอยากพาเพื่อนธรณ์ไประยอง เยี่ยมเยือนสถานที่ชื่อว่า EECi

ขอเกริ่นนิดว่า หากต้องการเศรษฐกิจยุคใหม่แบบ 4.0
เราจำเป็นต้องมีรากฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากกว่าเดิม

เพราะยุคนี้มิใช่ยุค 3.0 ที่เน้นการดึงดูดการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ
(หมายถึงคนไทยได้เป็นแค่ลูกมือ ทำงานตามสั่ง ไม่ได้คิดเองคุมเอง)

การทำให้ได้เกิดผลแบบนั้น ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ พื้นที่และหัวสมอง

พื้นที่ก็ต้องเน้นไปว่าตรงไหนบริเวณใดที่จะส่งเสริมกิจการประเภทนั้น
อเมริกาก็ไม่ได้เจริญทั้งประเทศ จะมีบางพื้นที่ซึ่งเน้นหนักด้านนี้

หากคุณเป็นเพื่อนธรณ์รุ่นเก่า (สัก 3 ปีก่อน) คงจำกันได้ว่า ผมเคยพาไปเยือนฮาร์วาร์ดและ MIT ที่คอยขับเคลื่อนสตาร์ทอัพ/อุตสาหกรรมยุคใหม่แถวบอสตัน
และพาไปสแตนฟอร์ดที่เป็นเสมือนแกนกลางของซิลิคอนวัลเล่ย์

ฮาร์วาร์ด MIT คือหัวสมองของอเมริกาฝั่งตะวันออก ขณะที่สแตนฟอร์ดคือหัวสมองอเมริกาฝั่งตะวันตก

สำหรับเมืองไทย เรามีหัวสมองอยู่ที่สวทช. (รังสิต) ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในกรุงเทพ

แต่นั่นก็เป็นเมืองไทยยุคเก่า ทุกอย่างรวมอยู่กรุงเทพ

เมืองหลวงที่ตั้งมากว่า 200 ปี ยุทธศาสตร์ดีหนักหนาแต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับความเจริญก้าวหน้าในยุคนี้

เมืองที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจระดับโลกได้ ต้องเชื่อมต่อกับทะเล
ชายฝั่งน้ำลึก เรือเข้าออกได้ง่าย มีสนามบินอยู่ไม่ไกล ยิ่งอยู่ใกล้เมืองหลักยิ่งดี
หากมีของแถมประเภทกิจการพลังงานยิ่งรุ่งหนัก

เมื่อมองในมุมนี้ ระยองเป็นเพอร์เฟคเพลส มีทุกอย่างที่ผมบอกไป

พร้อมกับโรงแยกก๊าซจากอ่าวไทยและ LNG ที่นำมาผลิตไฟฟ้าและใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม

แต่ปัญหาคือหัวสมอง แม้ในเขตชลบุรี-ระยอง จะมีมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นมหาลัยดีหนักหนา

แต่เรายังต้องการบางอย่างเพิ่มเติม
มันสมองอีก 2 แห่งในพื้นที่ หนึ่งคือดิจิตัลปาร์ค ศรีราชา

ผมเคยพาเพื่อนธรณไปดูพิพิธภัณฑ์อวกาศของ GISTDA มาแล้วนะ
อีกแห่งอยู่ที่ระยอง เรียกว่า “วังจันทร์วัลเล่ย์” หรือเขต EECi
ซึ่งจะเป็นมันสมองประเภทผสมผสาน รวมกันทั้งภาครัฐ/เอกชน

วังจันทร์เป็นชื่ออำเภอหนึ่งของระยอง
เป็นอำเภอที่ประชาชนมีรายได้น้อยสุดในจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวติดทอป 1 ใน 3 ของไทยมาตลอดหลายปี

(อ่านดีๆ นะครับ ระยองรายได้สูง แต่วังจันทร์รายได้ต่ำ)

เพราะวังจันทร์อยู่ห่างชายฝั่งทะเล อยู่ไกลแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีสวนผลไม้ ฯลฯ
ชาวบ้านก็รับจ้างทำไร่ มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น มัน ยาง ปาล์ม
บางแห่งก็รุกล้ำเขตป่า

เดิมทีผมสงสัยว่า ทำไมต้องวังจันทร์ ?
ทำไมไม่ไปทำแถวชายฝั่งทะเล ?

แต่เมื่อมาถึงจึงเข้าใจ
เพราะบริบทแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

เมืองไทยยังต้องการกระจายรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
ต้องการใช้แนวคิดยุคใหม่เพื่อหยุดการบุกรุกป่า ฯลฯ

การสร้าง EECi แถวฝั่งทะเล จะเป็นเพียงการสร้างความเจริญที่กระจุกตัว
หากเราถอยห่างมาสักนิด เฉลี่ยความเจริญให้ลึกเข้าไปในแผ่นดิน
มันจะเกิดการพัฒนาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ หากพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งจากระยะทาง จะเห็นว่าวังจันทร์เป็นศูนย์กลางเหมือนกันนะ

อยู่ห่างจากระยอง พัทยา มาบตาพุด แหลมฉบัง อู่ตะเภา ไม่ถึง 100 กิโลเมตร
ห่างจากสุวรรณภูมิ 130 กม. และห่างกทม. 160 กม.

(แต่เมื่อดูความเจริญที่กำลังแผ่ไปทางบางนา/มีนบุรี/สุวรรณภูมิ เชื่อว่าขอบกรุงเทพก็จะใกล้วังจันทร์ขึ้นเรื่อยๆ)


การพัฒนาพื้นที่ 3,500 ไร่ เริ่มต้นมาหลายปีก่อน โดยปตท.ตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธีย์ (VISTEC)

ปัจจุบันทั้งสองแห่งถือเป็นโรงเรียนและสถาบันการศึกษาชั้นนำสุดๆ ในประเทศ

หากนับด้านงานวิจัยหรือเด็กที่จบมา บอกได้เลยว่าติดระดับทอปของภูมิภาค

แน่นอนว่าเรื่องนี้อาจมีข้อแม้

เพราะเด็กนักเรียน/นักศึกษาในสถาบันทั้งสองแห่งมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับมหาลัยเก่าแก่อย่างจุฬา เกษตร ฯลฯ ทำให้สัดส่วนหัวกะทิผิดกันเยอะ

แต่จุดประสงค์แตกต่างกัน ที่นี่มีไว้เพื่อกลั่นกรองเพชรในเพชรของประเทศให้อยู่ในไทย

เพื่อสนับสนุนงานวิจัยที่ก้าวทันโลกให้อยู่ในบ้านเรา เพื่อเชื่อมต่อกับ R&D ของภาคเอกชน

ให้เป็นเหมือน MIT ฮาวาร์ด สแตนฟอร์ด อันเป็นหัวสมองของพื้นที่ข้างเคียง

เป็นแนวคิดแบบดันหัวประเทศไปข้างหน้า ที่ต้องทำควบคู่กับการดึงฐานประเทศตามมา (ให้ทุนการศึกษา/สนับสนุนโรงเรียนขาดแคลน ฯลฯ)

บอกอย่างนี้เด็กเกรดห่วยคงน้อยใจนิดหน่อย
แต่ไม่ต้องเศร้าไป เพราะหากตัดสินด้วยเกรด อาจารย์ธรณ์ก็เป็นก้อนกรวดกลิ้งข้างทาง

เกรดไม่ใช่ทั้งหมด แต่คนเก่งควรได้รับการสนับสนุน เพื่อช่วยฉุดประเทศไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ผมพูดคุยกับผู้บริหารทั้งสองสถาบัน บอกว่าท่านอย่าลืมคนอื่นเน้อ

อยากขอให้ท่านช่วย พยายามให้ KVIS และ VISTEC เป็นเสมือนโรงเรียนสำหรับคนทั้งระยองทั้งประเทศ ศึกษาดูงาน ร่วมงานกัน ฯลฯ

ซึ่งตอนนี้เขากำลังทำโปรแกรมต่างๆ สำหรับคุณครูจากโรงเรียนทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการทำวิจัยร่วมกับมหาลัยอื่นๆ อีกหลายแห่ง

นอกจาก 2 สถาบันการศึกษา ที่นี่ยังมีสีเขียว
ผมชอบมากที่เขากำหนดว่า จะต้องปลูกป่าขึ้นมาบนพื้นที่แห้งแล้งที่ซื้อมาตั้งแต่ตอนโน้น

โดยตั้งเป้าว่า จะมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 60% ของพื้นที่ทั้งหมด
รวมทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำ 7 แห่งทั่วพื้นที่ และบ่อน้ำย่อยอีกหลายแห่ง

โดยที่น้ำเหล่านั้นไม่ได้มีไว้ใช้อุปโภค
แต่มีไว้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แผ่นดิน เพื่อให้ป่าฟื้นคืน
สร้างสีเขียวแต่งแต้มบนดินที่เคยเป็นสีน้ำตาลด้วยความแห้งแล้ง

ผมขึ้นไปบนหอสูงอันเป็นจุดชมวิวบนเนินเขา ถ่ายภาพมาให้เพื่อนธรณ์ดู เพื่อยืนยันว่า ที่นี่เขียวจริงนะ


ในอนาคต ไม้เชิงเดี่ยวที่ติดมากับพื้นที่ เช่น ปาล์มน้ำมัน จะหมดไป กลายเป็นป่าผสมผสานที่ใช้เทคนิคใหม่ๆ มาฟื้นฟู

เพื่อนธรณ์บางคนอาจได้ยินโครงการ “ป่าวังจันทร์” ที่นั่นคือที่นี่ครับ
สมเด็จพระเทพฯ ทรงกรุณามาเปิดโครงการและเสด็จมาบ่อยครั้ง


ปตท.จึงเตรียมการถวายพื้นที่ 150 ไร่เศษ เพื่อดำเนินตามแนวทางที่พระองค์ให้ไว้

รวมถึงในอนาคตจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เพื่อสร้างเกษตรผสมผสานที่สามารถอยู่คู่กับป่า

เป็นแหล่งการเรียนการสอนที่นอกจากจะช่วยให้นักศึกษาได้เข้าใจและมีโอกาสทำจริง
ยังมีความหมายเป็นอย่างยิ่งต่อชาวไร่ชาวนายุคใหม่ของประเทศ

ผมกล่าวถึง 2 สถาบัน 1 ป่า 1 พื้นที่เกษตรผสมผสาน คราวนี้มาดูสถานที่ลำดับที่ 5 ที่จะเป็นหัวใจทำให้ EECi สมบูรณ์

นั่นคือการเข้ามาของ สวทช. หน่วยงานมันสมองของประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

สวทช. จะย้ายฐานมาอยู่ที่นี่ เพื่อให้เป็นสถานที่ทำการวิจัยใหญ่สุดของไทย พร้อมกับดึงการวิจัย/พัฒนาของภาคเอกชนตามมา

ผมมองดูพื้นที่ข้างหน้า นี่ไม่ใช่โครงการเพ้อไปวันๆ มีแต่ภาพ CG

สวยดีนะ
เพราะผมเห็นรถแมคโครหลายคันกำลังทำงานแบบไม่หยุด

งานเปิดพื้นที่เรียบร้อย กำลังเริ่มเตรียมลงเสาเข็ม เพื่องานสาธารณูปโภคเฟสแรกมูลค่าหลายพันล้านบาท

อีก 2 ปีข้างหน้า สวทช.จะย้ายส่วนหนึ่งมาที่นี่ เพื่อพัฒนาให้เติบโตต่อไป


อีกไม่กี่ปีข้างหน้า BIOPOLIS (เมืองนวัตกรรมชีวภาพ) ARIPOLIS (เมืองหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัจฉริยะ) SPACE INNOPOLIS (เมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ) และอีกหลายๆ POLIS จะเกิดขึ้น

เงินลงทุนของภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยีกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อเหนี่ยวนำการลงทุนด้าน R&D ของภาคเอกชนอีกมหาศาล

จะทำให้ที่นี่เป็นหัวสมองประเทศในยุค Disruptive
ความเป็น 4.0 ที่แท้จริง เห็นได้ จับต้องได้ เรียนรู้ได้ ชื่นใจได้ จะเกิดขึ้นที่ EECi

อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจสงสัย ทำไมอาจารย์ชมจัง ?
คำตอบง่ายมากเลยครับ

ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์มาค่อนชีวิต
เมื่อมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นกับวงการวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี ผมย่อมต้องดีใจเป็นธรรมดา

ผมเป็นคนไทยมาทั้งชีวิต
มีโอกาสไปเห็นของดีที่ประเทศโน้นนี้มาก็มาก

ทุกครั้งเมื่อเห็นก็รู้สึกน้อยใจ เมื่อไหร่จะเกิดแบบนี้ในเมืองไทยบ้าง
เมื่อมาวังจันทร์ ผมเห็นเสี้ยวของความฝัน เห็นความเป็นไปได้ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ผมย่อมยิ่งต้องยินดีเป็นอย่างที่สุด
โดยเฉพาะในยุค Disruptive ที่พูดถึงกันเหลือเกิน แต่ไม่มีอะไรจับต้องได้...เห็นจริง

เมื่อมาเห็นจริง ผมย่อมอยากเล่าให้ฟัง อยากให้รู้ว่ามีอย่างนี้ในเมืองไทยด้วยนะ
ก็เพราะผมเป็นคนไทยครับ 🤗 🇹🇭

วังจันทร์วัลเล่ย์ ความเป็น 4.0 ที่แท้จริง เห็นได้ จับต้องได้ เรียนรู้ได้ ชื่นใจได้ จะเกิดขึ้นที่ EECi วังจันทร์วัลเล่ย์ ความเป็น 4.0 ที่แท้จริง เห็นได้ จับต้องได้ เรียนรู้ได้ ชื่นใจได้ จะเกิดขึ้นที่ EECi Reviewed by admin on 3:07 AM Rating: 5

No comments