ไทยตั้งเป้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนอาเซียนใต้ พร้อมเชื่อมต่อเส้นทางสายไหม



นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ประชาชนชาวไทยต่างมีความหวังกับการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือจากที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองหลวงไปยังภูมิภาคอื่นด้วย

นั่นคือการประกาศนโยบายสำคัญของ คสช. และรัฐบาลในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามพื้นที่ชายแดนของประเทศไทยที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทุกด้าน เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนถึง 9 เขต

และยังประกาศวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลยิ่งกว่าสมัยใด ๆ นั่นก็คือการเข้าร่วมยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม ที่จะเชื่อมต่อการคมนาคมของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่สำคัญคือการเชื่อมการคมนาคมเส้นทางสายไหมช่วงจีน-อาเซียน ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางทั้งทางบกและทางทะเลโดยสภาพภูมิศาสตร์

และยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) โดยลงทุนเข้าหุ้นจำนวนสูงมากถึง 700 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าการลงทุนของประเทศอินเดียในธนาคาร AIIB แห่งนี้

ทำให้คนทั้งหลายและชาวโลกได้เห็นความสว่างไสวแห่งการพัฒนาเจิดจ้าขึ้นเหนือบรรยากาศประเทศไทย ดังนั้นแม้ประเทศตะวันตกจะกดขี่ข่มเหงและต่อต้านคัดค้านการยึดอำนาจสักเท่าใด แต่ในที่สุดด้วยการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและจากประชาชนไทยทั่วประเทศ คสช. และรัฐบาลก็สามารถยืนโต้คลื่นฝืนลมและได้ชัยชนะอย่างงดงาม

และเกิดผลสะท้อนกลับให้ประเทศตะวันตกต้องทบทวนนโยบาย จากที่เคยใช้ท่าทีบดขยี้ประเทศไทย ต้องหันมาเอาอกเอาใจสารพัด อวยกันชนิดสุดลิ่มทิ่มประตูเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยโน้มเอียงไปในการกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้

ถ้าหากมีการดำเนินวิเทโศบายที่ถูกต้อง สร้างและรักษาดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เหมาะสม ประเทศไทยก็จะได้รับผลประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่จากทุกฝ่าย และจะยืนขึ้นได้อย่างสง่างาม โดยไม่ต้องก้มหัวกราบตีนหรือยอมสยบตามคำชี้นิ้วของใครอีกต่อไป

แต่ถ้าหากดำเนินวิเทโศบายผิดพลาด ยอมตนเป็นข้าทาสของบางพวก ทรยศหักหลังมิตรประเทศที่เกื้อหนุนค้ำจุนในยามยาก ในที่สุดก็จะเกิดสภาพตกระกำลำบากและถูกกดขี่ข่มเหงจนกลายเป็นประเทศราชแบบใหม่ ซึ่งในอาเซียนนี้ก็เหลืออยู่เพียง 1-2 ประเทศเท่านั้นที่ยังคงยอมตนเป็นประเทศราชแผนใหม่ของต่างชาติ ที่จะต้องสูญเสียผลประโยชน์และทรัพยากร ตลอดจนการกดขี่ข่มเหงประชาชาติของตนเอง อันเป็นที่มาของการกล่าวหาเรื่องขายชาติ ทรยศชาติและปล้นชาติที่กึกก้อง

หลังจากประเทศไทยได้ประกาศนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 9 เขตแล้ว ก็มีคณะทำงานหลายระดับหลายคณะเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านก็พากันตื่นตัวต่อการขยับตัวของประเทศไทย และพากันเร่งไม้เร่งมือในการพัฒนาประเทศเพื่อไม่ให้ตกเป็นประเทศล้าหลังในอาเซียน

ประเทศพม่าได้ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 21 เขต ประเทศลาวได้ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 19 เขต ประเทศกัมพูชาได้ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 เขต ส่วนประเทศเวียดนามได้ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนับสิบเขต

ระยะเวลาร่วม 5 ปีผ่านไปแล้ว ประเทศไทยยังไม่สามารถเดินหน้าเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เลยแม้แต่เขตเดียว ในขณะที่ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา รวมทั้งเวียดนามได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างคึกคัก โดยเฉพาะได้จัดระบบการคมนาคมที่เชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมให้ก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ประเทศไทยของเรานอกจากล้มเหลวในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 9 เขตแล้ว เรื่องราวก็เงียบหายไปเฉย ๆ กับมีเรื่อง EEC เกิดขึ้นแทน โดย EEC นั้นเกี่ยวข้องกับพื้นที่แค่สามจังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งความจริงก็มีการพัฒนามากว่า 60 ปีแล้ว เป็นพื้นที่ลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังพลวัฒน์ได้ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว

โดยพื้นที่นั้นเป็นแหล่งผลประโยชน์ใหญ่ของเจ้าสัวเพียงไม่กี่รายในประเทศไทย โดยเฉพาะเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเพียง 11 แห่ง โดยพื้นที่นอกจากนี้แทบไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย นอกจากต้องแบกรับภาระราคาที่ดินที่สูงขึ้น และต้นทุนที่สูงขึ้น

การขับเคลื่อนพัฒนา EEC หากได้มีการชำเลืองมองการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็จะน่าตกใจ เพราะพื้นที่เหล่านี้ใกล้เคียงกัน ย่อมส่งผลกระทบถึงกัน

ทางด้านตะวันตก พม่าได้พัฒนาท่าเรือน้ำลึกถึงสองแห่งที่สามารถขนส่งลำเลียงสินค้าไปยังด้านตะวันตก โดยใช้ระยะทางและเวลาน้อยกว่าที่จะขนส่งไปจากพื้นที่ EEC และอีกไม่นานผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ต้องส่งสินค้าไปยังด้านตะวันตกก็อาจจะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่พม่า ซึ่งต้นทุนถูกกว่า สะดวกกว่า และประหยัดกว่า

ทางด้านตะวันออก เวียดนามได้พัฒนาท่าเรือน้ำลึกตลอดแนวฝั่งทะเล และได้เปิดเขตเศรษฐกิจการค้าชายแดนที่ติดกับมณฑลกวางสี บริเวณด่านผิงสิงก่วน เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรจีน-อาเซียน โดยมีสิทธิพิเศษทางภาษีอากรคือเรียกเก็บ 4% อัตราเดียว ในขณะที่การขนส่งผ่านจุดอื่นจะต้องเสียภาษี 15% หรือ 7.5% สำหรับประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน

ทั้งยังสามารถขนส่งสินค้าไปยังด้านตะวันออก ไม่ว่าไปจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา โดยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และสะดวกกว่าที่จะขนส่งไปจากพื้นที่ EEC ดังนั้นก็อาจมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีเครือข่ายขนส่งสินค้าไปยังด้านตะวันออกที่อาจจะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่เวียดนาม

ส่วนทางด้านอาเซียนใต้นั้น กัมพูชาได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจสีหนุวิลล์ และจะมีการสร้างท่าเรือใหญ่ที่สุดในอาเซียนเพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าจีนกับอาเซียนใต้ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และฟิลิปปินส์ อย่างสะดวกรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าที่จะขนส่งไปจากพื้นที่ EEC ดังนั้นก็อาจมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยย้ายฐานการผลิตไปที่กัมพูชา

สภาพเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดคำนึงทั้งนั้น และในยุคสงครามสื่อที่มีการใช้สื่อในการทำให้เกิดความเข้าใจผิดและหลงผิดอย่างกว้างขวางนั้น ประชาชนชาวไทยจึงต้องแจ่มแจ้งในสถานการณ์ที่กำลังเป็นไปในการพัฒนาดังกล่าว

ความจริงประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางเส้นทางสายไหมจีน-อาเซียน ทั้งอาเซียนตอนบน ได้แก่พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอาเซียนตอนล่าง ได้แก่มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และยังมีลักษณะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อสองฝั่งฟากมหาสมุทร ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบและมีโอกาสสูงสุด

แต่เรากลับตัดรอนความรุ่งเรืองของเราเอง โดยการถ่วงรั้งการเชื่อมต่อเส้นทางสายไหมไทย-จีน โดยรถไฟความเร็วสูง ไม่ร่วมมือในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ปิดกั้นตัวเองจากการพัฒนาและความร่วมมือของประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เปิดทางให้ประเทศเพื่อนบ้านทำมาค้าขายทำธุรกิจท่องเที่ยวกันอย่างเอิกเกริก ส่วนประเทศไทยได้แต่ยืนชะเง้อน้ำลายไหลอยู่ริมแม่น้ำโขง

ดังนั้นสถานการณ์ถูกกำหนดให้ประเทศไทยต้องเร่งรีบจัดตั้งและขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษการค้าชายแดนทั้ง 9 เขต ตามที่ คสช. และรัฐบาลเคยกำหนดและขับเคลื่อนมาแต่เดิมให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

โดยเฉพาะการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการค้าพิเศษชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด มิฉะนั้นก็ไม่อาจที่จะเอ่ยอ้างได้เลยว่าเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา

พี่น้องชาวไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนต้องการหลุดพ้นออกจากความขัดแย้ง ความยากจน ความขาดแคลน ความล้าหลัง ต้องการมีชีวิตที่ดี ต้องการมีสังคมที่เป็นสุข ต้องการให้ลูกหลานมีอนาคตที่สดใส เมื่อสิ่งเหล่านี้บังเกิดขึ้นเมื่อใด ประเทศไทยก็จะศิวิไลซ์เมื่อนั้น

ถ้าคิดไม่ออก ทำไม่เป็น ก็ควรจะตระหนักให้ดีว่าแผ่นดินนี้ไม่สิ้นคนดี อยู่ที่ใครมีสายตาแหลมคม สามารถเชื้อเชิญคนดีมีสติปัญญามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จลุล่วงไปเท่านั้น


ไพศาล​ พืชมงคล​
ไทยตั้งเป้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนอาเซียนใต้ พร้อมเชื่อมต่อเส้นทางสายไหม ไทยตั้งเป้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนอาเซียนใต้ พร้อมเชื่อมต่อเส้นทางสายไหม Reviewed by admin on 1:59 AM Rating: 5

No comments