เปรียบเทียบศักยภาพและขีดความสามารถ ของประเทศไทยกับเวียดนาม จะแซงไทยจริงหรือ?



ช่วงนี้สื่อกำลังนำเสนอข่าวตัวเลขการส่งออกของเวียดนามโตก้าวกระโดด 30 - 40% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สื่ออ้างจากการสัมภาษณ์​ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยระบุว่าก็เป็นผลมาจากการลงนามการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างยุโรป -​ เวียดนาม ทำให้เวียดนามสามารถส่งออกสินค้าไปยังยุโรปได้มากขึ้นหลายเท่าตัว

ถือเป็นการปลดล๊อกเรื่องกำแพงภาษีระหว่างอียูและเวียดนามให้เหลือ 0% อีกด้วย ในขณะที่ภาพรวมการส่งออกของไทยกลับติดลบ 2.7% ผลพวงก็มาจากสงครามทางการค้าระหว่างจีน -​ สหรัฐ​ และค่าเงินบาทที่แข็งค่ายิ่งกว่าหินนั่นเอง

แต่ทั้งนี้เมื่อเจาะลงไปที่ชนิดของสินค้าส่งออกของเวียดนามถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะ


🇻🇳 เวียดนามส่งออก...
ข้าว : สินค้าส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเช่นเดียวกับไทย
สิ่งทอ : มีโรงงานของบริษัทเสื้อผ้ารายใหญ่ๆ จากยุโรป และอเมริกามาตั้งโรงงานทั้ง Adidas Nike และ H&M เป็นต้น
รองเท้ากีฬาแบรนด์​ต่างๆ ที่เป็นโรงงานผลิตและตัดเย็บทั้งชื่อดังและชื่อไม่ดัง
สมาร์ทโฟน : โดยเฉพาะค่ายยักษ์จากเกาหลี Samsung และ LG ก็มีโรงงานและศูนย์วิจัยเทคโนโลยีที่ถือเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดนอกประเทศเกาหลีด้วย
ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ : เช่น ชิปประมวลผลอย่าง Intel ก็มีโรงงานในเวียดนาม
แผงวงจรไฟฟ้า
อื่นๆ

มูลค่าการส่งออก : 101,121 ล้านดอลลาร์
ปัจจัยบวกกระตุ้นส่งออก : FTA 12 ฉบับ เช่น สหภาพยุโรป - เวียดนามและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก 11 ประเทศ

🇹🇭 ประเทศไทยส่งออก...
ข้าว : ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแข่งกับเวียดนามเช่นกัน
สินค้าเกษตร : พืช ผัก ผลไม้เมืองร้อนต่างๆ นาๆ
อาหารแช่แข็ง/แปรรูป : ที่รวมไปถึงการทำประมง และเนื้อสัตว์
ยานยนต์ : ฐานการผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า : และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มากมาย
อื่นๆ

มูลค่าการส่งออก : 101,561 ล้านดอลลาร์
ปัจจัยกระทบ : ค่าเงินบาทแข็งค่า, ขีดความสามารถแรงงาน, ความไม่ชัดเจนทางการเมือง, การชะลอลงนาม FTA เพื่อรอรัฐบาลใหม่

หากดูแบบนี้ก็เหมือนว่าปีนี้จะเป็นปีทองของเวียดนาม ทำอะไรก็ดูมือขึ้นไปหมด และทำให้หลายคนคิดไกลไปถึงขนาดว่าเวียดนามกำลังจะเจริญแซงไทยแล้ว!

ขอให้ผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจไป ผมอยากให้ดูข้อมูลเหล่านี้ประกอบก่อนและค่อยตัดสินใจว่า เราแพ้เวียดนามจริงเหรอ?


นี่คือข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศไทย VS เวียดนาม

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP ปี 2561

🇹🇭 16 ล้านล้านบาทขยายตัว 4.1% (ปี62 : 3.3%)
🇻🇳 7.4 ล้านล้านบาทขยายตัว 7.1% (ปี62 : 6.8%)

รายได้ต่อหัวเฉลี่ย/เดือน
🇹🇭 18,000 บาท/เดือน
🇻🇳 6,377 บาท/เดือน

ทุนสำรองระหว่างประเทศ
🇹🇭 6,346,689‬ ล้านบาท อันดับ 12 ของโลก
🇻🇳 1,890,000 ล้านบาท อันดับ 34 ของโลก

ขีดความสามารถการแข่งขันบนเวทีโลก
🇹🇭 อันดับ 25 ของโลก
🇻🇳 มากกว่าอันดับที่ 50 ของโลก

การส่งเสริมการลงทุน ปี 2562
🇹🇭 411โครงการ (ม.ค.-มี.ค.) มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท
🇻🇳 1,360 โครงการ (ม.ค. - พ.ค.) มูลค่า 2.6 แสนล้านบาท

ข้อตกลงการค้า หรือ FTA
🇹🇭 บังคับใช้แล้ว 13 ฉบับ อยู่ระหว่างเจรา 4 ฉบับ
🇻🇳 บังคับใช้แล้ว 12 ฉบับ อยู่ระหว่างเจรา 5 ฉบับ

จริงๆ มีตัวเลขอื่นๆ อีกมากมายที่มีทั้งอันดับของเวียดนามที่ดีกว่าเราและเราดีกว่า แต่การยกมาแค่นี้ก็คงจะพอเห็นชัดเจนแล้ว เพราะหากเปรียบเทียบชัดๆ ว่าตอนนี้เวียดนามจะแซงไทยจริงเหรอ ข้อมูลเหล่านี้คงบอกได้ชัด และหากเวียดนามจะเจริญแซงไทยจริง GDP ของเวียดนามต้องโตแบบนี้ต่อเนื่องด้วยอัตราเท่านี้ไปอีก 20 ปี ภายใต้เงื่อนไขที่ไทยต้องโต 0% หรือติดลบ ซึ่งมัน "เป็นไปไม่ได้เลย" ในทางเศรษฐกิจที่มีขึ้นมีลงแบบนี้

เพราะถึงแม้เวียดนามจะโตมาก แต่เราก็ไม่ได้หยุดเติบโต...เวียดนามตอนนี้ก็เป็นเหมือนไทยเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว ที่เปิดเสรีการค้าการลงทุนในสมัยยุค "พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ" เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2531 - 2534 ที่มีนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยอย่างมหาศาล จนเราถูกขนานนามว่าเป็น "เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย" และตอนนั้น GDP ไทยโตแรงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกถึง 11% ซึ่งขนาดจีนที่ว่ามีช่วงเศรษฐกิจ​โตแรงๆ ยังไม่เคยเท่ากับไทยในตอนนั้นเลย

และหากเวียดนามไม่ใช้โอกาสในการที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตแบบนี้ ฉวยโอกาสเรียนรู้และเก็บเกี่ยว Know How ของต่างชาติ และเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงของตัวเองในระยะยาว เวียดนามก็ยากที่จะเจริญได้แบบถาวร

เพราะหากไปดูสัดส่วนภาคการลงทุนและภาคธุรกิจของเวียดนามในตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างชาติทั้งนั้น เมื่อประเทศเริ่มพัฒนาขึ้น รายได้ประชาชนสูงขึ้น ค่าแรงก็จะแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว และเมื่อถึงจุดนั้นการย้ายฐานการผลิตออกจากเวียดนามเพื่อไปยังประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าก็จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับไทย

ในขณะที่ภาคเอกชนเวียดนามเองก็ยังไม่แข็งแกร่ง และยังถูกผูกขาดโดยกลุ่ม Veit Group และมีกลุ่มทุนไทยเข้าไปไล่ซื้อกิจการหรือถือหุ้นในเวียดนามอีกเพียบ ทำให้เวียดนามขาดขุมพลังทางเศรษฐกิจที่เป็นของเวียดนามแท้ๆ ซึ่งเวียดนามคงอาจเหนื่อยมากๆ กว่าจะตั้งไข่ได้ และการตามไทยให้ทันหรือคิดจะแซงไทยนั้นคงเป็นเรื่องที่อาจต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปี หรือไม่มีวันเลยก็ได้

มองกลับมาที่ไทย แม้ว่าไทยเราจะซวนเซมาหลายปี ทั้งโดนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 เล่นงานจนเกือบล้ม มาเจอวิกฤติ​การเมืองในปี 49 จนยาวเรื่อยจนเกิดการรัฐประหาร และกว่าจะได้เลือกตั้งและเร่งเครื่องลงทุนอย่างเต็มสูบแบบทุกวันนี้ก็ใช้เวลาเป็น 20 ปี แต่สุดท้ายเศรษฐกิจไทยก็ยังโตต่อเนื่องได้เรื่อยๆ แม้เร็วบ้างช้าบ้าง แต่ก็ยังไม่เคยหยุดนิ่งหรือตาย เมื่อ 10 -​ 20 ปีที่แล้วเราได้ยินว่าเวียดนามจะแซงไทยอย่างไร ตอนนี้เขาก็ยังไม่แซงเราให้เห็นถูกไหม?

อีกอย่างตอนนี้สถานการณ์ในประเทศไทยกำลังค่อยๆ เดินไปตามทางของมัน แม้จะถูกใจหรือไม่ถูกใจใครก็ตาม แต่สุดท้ายก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ส่วนภาคเอกชนเราเริ่มเปลี่ยนจากการเป็นผู้รอรับการลงทุนจากต่างชาติในอดีต ไปเป็นนักลงทุนที่แผ่ขยายอาณาจักรแบรนด์ไทยไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งการก้าวสู่ประเทศที่สร้างนวัตกรรมและธุรกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล มากกว่าเป็นมือปืนรับจ้างผลิตสินค้าหรือ OEM แบบเดิมของเราหรือแบบปัจจุบันของเวียดนาม

ส่วนการลงทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยอดการลงทุนหรือ Flow​ พุ่งทะลุ 50,000 ล้านไปแล้ว ขานรับกับภาครัฐที่เริ่มมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ลงทุนไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนหน้าสองสามรัฐบาลก็ใกล้แล้วเสร็จ

รวมทั้งโครงการใหม่ๆ ที่เตรียมดำเนินการเช่น EEC รถไฟความเร็วสูง การพัฒนานวัตกรรม​ต่างๆ ที่ยังเดินหน้า และเราไม่เคยหยุดนิ่ง ไหนจะทุนไหลเข้าประเทศอีกมากมายอย่างที่กล่าวไปซึ่งมันทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา เพราะการที่มีเงินไหลเข้ามาในประเทศเยอะนั่นคือการสะท้อนความมีเสถียรภาพของค่าเงินบาท ซึ่งถือว่าเป็นสกุลเงินหลักของภูมิภาค

และแม้ว่าภาพรวมการส่งออกเราจะชะลอตัว แต่เรายังเหลือเครื่องยนต์อีกตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งก็คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเดี๋ยวอีกไม่กี่เดือนฤดูไฮซีซั่นก็กำลังจะมา บรรยากาศการท่องเที่ยวก็จะกลับมาอีกครั้ง แม้จะไม่คึกคักเท่าปีก่อนๆ แต่ก็ยังถือว่าไม่ขี้เหร่ และมีตัวเลขนักท่องเที่ยวกับรายได้ที่ตามเป้าที่ ททท.คาดไว้

ผมเชื่อว่าต้องมีคนมาบอกว่าเมื่อก่อนเราก็เคยบอกว่าจีนจะไม่แซงเรา เกาหลีจะไม่แซงเรา ญี่ปุ่นจะไม่แซงเรา สุดท้ายเขาแซงเรา ทำไมเวียดนามจะแซงเราไม่ได้ บลาๆๆๆ คือจะอธิบายต่อเดี๋ยวผมว่าจะยืดยาว เอาเป็นว่าผมขอสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ลงรายละเอียดเยอะ

🇨🇳 จีน
มีนโยบายที่จริงจังในตอนเปิดประเทศใหม่ๆ และใช้อำนาจความเป็นประเทศใหญ่คนหลักพันล้านในการสร้างอำนาจซื้อจากภายใน ก่อนค่อยเปิดประเทศรับการลงทุน และด้วยความฉลาดของจีนที่ค้าขายเก่ง ต่อรองเก่ง การค้าขายจึงไม่ใช่ได้แค่สินค้ากับเงิน แต่ต้องได้วิทยาการความรู้มาทำเป็นของตัวเอง ทำให้จีนมีนวัตกรรม และสร้างสรรค์เทคโนโลยีได้เอง​ มีการผลักดันนโยบาย Made in China ให้เกิดขึ้น ซึ่งแค่จีนทำเองบริโภคกันเองก็เกินพอแล้ว แต่พอมันโต ต่างชาติสนใจก็เกิดการขาย และพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นแบบที่เราเห็นทุกวันนี้

🇰🇷 เกาหลีใต้
จริงอยู่ที่เกาหลีเคยใกล้ๆ กับเรา แต่เขาก็พัฒนาเร็วหลังสงคราม โดยมีสหรัฐอเมริกาคอยหนุนอยู่ ดีเอ็นเอคนเอเชียตะวันออกมีความฉลาดมากในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ซึ่งมันไม่ยากที่จะพัฒนาตัวเองได้ และยิ่งอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจเอเชียอย่างจีน และญี่ปุ่น ที่เคยผลัดกันยึดปกครองเกาหลี จึงเป็นแรงกดดันที่เกาหลีจะพยายามถีบตัวเองให้สูงเพื่อหนีจากการเป็นลูกไล่ ที่สำคัญเกาหลีเริ่มสร้างชาติจากพวกแชโบว์ หรือพวกเครือบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น ซัมซุง แอลจี ฮุนได โดยรัฐสนับสนุนเต็มที่ แต่ก็แลกมาด้วยการผูกขาดในประเทศชนิดที่ใครชอบบ่นว่า CP บ้านเราผูกขาด เจอทุนเกาหลีเข้าไปหนักกว่าอีก แต่มันก็เจริญขึ้นมาได้จนทุกวันนี้

🇯🇵 ญี่ปุ่น

ขออธิบายสั้นๆ เขาไม่เคยแพ้ไทย หรือด้อยกว่าไทยมาตั้งแต่กำเนิดประเทศแล้ว ในยุคที่เรายังเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไถนา แต่ญี่ปุ่นสามารถก่อสงครามโลกได้ สร้างเครื่องบินรบ เรือรบ รถถังเองได้ คิดว่าประเทศนี้เจริญน้อยกว่าเราเหรอ และแม้เขาจะแพ้สงครามโลก แต่สหรัฐคือคนที่ช่วยญี่ปุ่นพลิกฟื้นจากสงคราม พร้อมความเก่งและทะเยอทะยานของญี่ปุ่นเอง ทำให้ญี่ปุ่นกลับมาอย่างรวดเร็ว และไม่ต้องบอกว่าเราเคยมีรถไฟก่อนญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมีก่อนเรานานมาก

🇲🇾 มาเลเซีย

เขาเจริญกว่าเรามาตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณาจักรศรีวิชัยปลายแหลมมาลายูแล้ว มะละกาคือเมืองท่าที่ค้าขายเครื่องเทศกับชาติตะวันตกมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ และการเป็นอาณานิคมอังกฤษก็ได้ถูกวางรากฐานไว้โดยเจ้าอาณานิคม รายได้ต่อหัวมาเลเซียไม่เคยต่ำกว่าไทยมาแต่ไหนแต่ไร แต่ปัจจุบันเราก็ไล่ตามเขาอยู่

🇻🇳 เวียดนาม

ตอนนี้แทบจะยกประเทศให้เกาหลี ให้ต่างชาติครอบครองกิจการของคนเวียดนามและลงทุนในเวียดนามอย่างเต็มที่ แถมมีการคอรัปชั่นที่สูงกว่าไทยหลายสิบอันดับ มันคงไม่ง่ายที่จะแซงไทย เพราะแม้เขาจะมีแรงงานวัยหนุ่มสาวแต่มันต้องดูว่าเขาพัฒนาคนให้มีศักยภาพได้ทันจนมีมูลค่ามากพอหรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่แรงงานเยอะ แต่ราคาถูก? เพราะทุกวันนี้ใครจะแซงใครมันไม่ได้มีจังหวะและโอกาสง่ายแบบสมัยก่อนที่โลกยังไม่มีนวัตกรรมมากมายแบบนี้ สมมุติ​ถ้าเวียดนามจะใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ ต้องไม่ใช่เกิดจากการรับจ้างผลิตทับเส้นทางใครแบบนี้ เขาอาจต้องหาอะไรที่เด่นและเป็นเวียดนามเท่านั้นที่ทำได้ เป็นเจ้าเทคโนโลยีแท้จริงและเป็นที่ต้องการในตลาดโลก ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ในเวลา 10 ปีจะทำได้เช่นกัน...

##################

อย่างไรก็ตามบทความนี้ไม่ใช่เขียนขึ้นมาเพื่อดูแคลนเพื่อนบ้าน แต่อยากให้ผู้อ่านได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงมากกว่าใช้อารมณ์และอคติมาตัดสิน เพราะคนฉลาดเค้าเอาข้อมูล ตัวเลข สถิติมาคุย ไม่ใช่เอาความรู้สึกหรืออารมณ์ส่วนตัวมาตัดสิน แลผมยินดีอย่างยิ่งที่เพื่อนบ้านเจริญขึ้น เพราะการที่เพื่อนบ้านเจริญมันคือการลดภาระของประเทศไทย ลดปัญหาสังคมที่เกิดจากการไหลทะลักของแรงงานไร้ศักยภาพ รวมไปถึงการที่เราจะสามารถทำมาค้าขายกับเพื่อนบ้านได้มากขึ้น เนื่องจากเพื่อนบ้านมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากการพัฒนานั่นเอง เพราะนโยบายของประธานอาเซียนในปีนี้คือ "เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

ที่มาข้อมูลจาก : สภาอุตสาหกรรม​แห่ง​ประเทศไทย, IMF, World Bank

วัชราทิตย์ เกษศรี
เปรียบเทียบศักยภาพและขีดความสามารถ ของประเทศไทยกับเวียดนาม จะแซงไทยจริงหรือ? เปรียบเทียบศักยภาพและขีดความสามารถ ของประเทศไทยกับเวียดนาม จะแซงไทยจริงหรือ? Reviewed by admin on 1:19 AM Rating: 5

No comments