ประเทศไทยอยากพัฒนา ไม่ใช่มองไปข้างหลัง(เวียดนาม) แต่ต้องมองไปข้างหน้า(สิงคโปร์)



จริงๆแล้วเวียดนามกำลังเดินตามไทย โดยใช้โมเดลการพัฒนาที่เราทำมาตั้งแต่ 20-30 ปีที่แล้ว เช่น

- มอเตอร์เวย์เชื่อม ฮานอย-ไฮฟอง เหมือนแนวคิดการสร้างมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลบุรี(แหลมฉบัง) คือการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงซึ่งมี demand การใช้สินค้ามาก เข้ากับเมืองท่าซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ใช้ demand ในประเทศคู่กับ demand จากต่างประเทศดึงดูดนักลงทุน โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานมาเอื้อหนุน

- พัฒนาเมือง นาตรัง(ญาจาง)+ดานัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยมีโมเดลคือ พัทยา+ระยอง ถ้าเห็นเพจอวยของเวียดเยอะๆจะเห็นว่าเอามาเทียบกับพัทยาตลอด อยากแซงพัทยาให้ได้

- ไทยพึ่งพาการลงทุนจากญี่ปุ่นโดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมรถยนต์ ส่วนเวียดนามพึ่งพาการลงทุนจากเกาหลีโดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

- การแปลงประเทศให้เป็นทุนนิยมมากขึ้นผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจากของรัฐเป็นของเอกชนที่ไทยทำช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่เวียดนามกำลังทำอยู่ในขณะนี้

แล้วทำไมเวียดนามตอนนี้ถึงเหมือนจะทำได้ดีกว่าไทย และไทยเราจะทำแบบเดิมต่อไปไม่ได้อีกแล้ว?

- เวียดนามค่าแรงถูกกว่าไทย จุดนี้เดิมเป็นจุดสำคัญที่ไทยใช้ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ การลงทุนสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ จนไทยขยับขึ้นเป็นประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม high middle income แต่เวียดนามพึ่งเริ่ม ปัจจุบันค่าแรงต่างกัน 4 เท่า

- ในโลกของทุนนิยม ยิ่ง demand มากยิ่งได้เปรียบ เวียดนามมีประชากร 90 กว่าล้านคน ย่อมมี demand เยอะกว่าไทยซึ่งมีประชากร 60 กว่าล้าน (อินโดนีเซียก็มีข้อได้เปรียบตรงจุดนี้เช่นกัน)

- อัตราการเกิดและประชากรวัยแรงงานของเวียดนามที่มากกว่าไทยจะยิ่งหนุนข้อได้เปรียบเรื่องแรงงาน

- รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่เด็ดขาด ทำให้การเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆทำได้ง่ายกว่าไทยที่พอจะมีอะไรใหม่ๆก็จะเกิดม๊อบประท้วงอยู่ตลอด

แล้วไทยยังมีข้อได้เปรียบเหนือเวียดนามอย่างไร?

- การที่ไทยเราทำมาก่อน ทำให้เรามีรากฐาน supply chain ที่แข็งแกร่ง อย่างในอุตสาหกรรมรถยนต์ แม้เราจะไม่ได้เป็นเจ้าของแบรนด์รถยี่ห้อดังๆ แต่ชิ้นส่วนอะไหล่หลายชิ้นก็ถูกผลิตขึ้นโดยบริษัทของคนไทย ต่างจากเวียดนามที่ถึงยอดส่งออกจะเยอะ แต่ยอดนำเข้าก็เยอะขึ้นเช่นกันเพราะฐานอุตสาหกรรมที่รองรับยังไม่แน่น เหมือนนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบแล้วก็ส่งออกไป ได้แค่ค่าแรง

- องค์ความรู้ที่เราได้รับผ่านการร่วมทุนหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เรามีพื้นฐานที่จะผลักดันไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ดีกว่าเวียดนามที่พึ่งเริ่มต้น และสินค้าส่งออกหลายประเภทของของเวียดนามยังไม่ใช่สินค้าที่ใช้เทคโนโลยี เช่น อุตสาหกรรมผ้าและสิ่งทอที่จะเติบโตได้ดีในประเทศที่แรงงานถูกแต่ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากนัก

- ถึงแม้แรงงานไทยจะลดลง แต่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่จะมาใช้แทนแรงงานคนก็เติบโตขึ้น ปัจจุบันไทยมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดในอาเซียน

- โครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า การมีไฟฟ้าสม่ำเสมอและการเข้าถึงระบบขนส่งเป็นหัวใจหลักของการตั้งฐานการผลิต ประเทศไทยเดิมนั้นมีระบบถนนดีอยู่แล้ว และในอนาคตจะถูกเสริมด้วยรถไฟทางคู่ ที่จะเชื่อมทั้ง จีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ลดต้นทุนการขนส่งลงไปอีก เป็นศูนย์กลางทางบกของอาเซียน

- ภาคเอกชนที่แข็งแกร่งและมีประสบการณ์ บริษัทเหล่านี้ผ่านวิกฤติต่างๆและอยู่ร่วมกับคนไทยมาหลายสิบปี ตั้งแต่ก่อนที่เวียดนามจะเปิดประเทศอีก การรุกเข้าไปในตลาดเวียดนามและสามารถเอาชนะแบรนด์ท้องถิ่นได้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

ตอนนี้เราเดินมาถูกทางหรือยังกับนโยบาย EEC ทำไมต้องมองไปที่สิงคโปร์?

- สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขั้นสูงที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง ไทยเรากำลังเข้ามาชิงส่วนแบ่งตรงนี้โดยใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็น MRO hub และใช้พื้นฐานอุตสาหกรรมที่เรามีอยู่ช่วยเสริมการผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนต่างๆในประเทศ

- สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าขายน้ำมันดิบ แต่ไทยกำลังมีนโยบาย LNG hub หรือศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาค โดยไทยมีข้อได้เปรียบที่มี demand ในประเทศเยอะ การผลักดันมาบตาพุดเฟสสามเป็นการทำให้ไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

- เพิ่มการผลิตสินค้าที่เกิดจากการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้มากขึ้น ตั้งศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมคือ EECi เพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านงานวิจัยและนวัตกรรมให้มากขึ้น

- ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมเช่นจากรถยนต์น้ำมัน กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ต่อยอดให้ผลิตสารเคมีชนิดใหม่ๆที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สร้างอุตสาหกรรม New S-curve

ซึ่งนโยบาย EEC จะมาช่วยเสริมด้านต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่มาสนับสนุน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาเมืองต่างๆตามแนวเส้นทาง และยังมีนโยบายที่เอื้อให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรม New S-curve หนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างชาติ

รวมทั้งการวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นเอง หลายคนอาจมองว่า EEC เป็นแค่เรื่องเล็กๆ แค่ดูดนักลงทุนต่างชาติ แต่อย่าลืมว่าที่เรามีภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ก้าวพ้นประเทศค่าแรงถูกได้ก็เพราะโครงการ Eastern seaboard เมื่อ 30 ปีก่อนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงเรื่มต้น

การตั้งคณะทำงาน ตั้งข้อกฏหมายต่างๆ การวางผังเมือง สิ่งเหล่านี้กว่าจะเป็นเป็นรูปเป็นร่างต้องใช้เวลาหลักสิบปี เหมือนนโยบาย Eastern Sea Board และถ้าไม่ก้าวต่อไป ยกเลิก EEC แล้วย่ำอยู่กับที่แบบช่วงสิบปีที่แล้วที่ไม่มีอะไรใหม่ๆมาช่วยหนุนการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของประเทศ ประเทศที่ทำตามเราอย่างเวียดนามอาจแซงเราได้จริงๆในอนาคต

##################

บทวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากเพจ Thailand Development Report ซึ่งนำเสนอเรื่องราวการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ มาโดยตลอด

ผมขอเสริมให้อีกหน่อยคือ หลายคนยังมองเวียดนามโดยไม่เข้าใจภาพรวมอะไรเลย ว่าเวียดนามเวลานี้คือ "ไทยเมื่อ 40 ปีก่อน" สมัยที่เปิดรับทุนต่างชาติมาตั้งโรงงาน สมัยที่อเมริกา-ยุโรป-ญี่ปุ่น ดำเนินแผนเศรษฐกิจแบบพึ่งพา

คือ ประเทศร่ำรวยจะสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยี เผื่อกำหนดวิถีการผลิต (mode of production) และค่านิยม+วัฒนธรรมในการเสพสินค้าและบริการ รวมถึงการกำหนดมูลค่าสินค้าและบริการต่างๆ ในรูปแบบที่เอื้อต่อนายทุนผู้ผลิตสินค้าและเทคโนโลยีในประเทศเหล่านั้น

ในขณะที่ประเทศยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนา จะถูกใช้เป็นฐานการผลิตราคาถูก ด้วยการที่ต่างชาติมาตั้งโรงงาน และส่งเสริมการทำอุตสาหกรรมหนักในยุค 2.0 ซึ่งทิ้งมลพิษให้กับประเทศที่เป็นฐานการผลิต

เม็ดเงินจำนวนมากที่ไหลเข้าประเทศฐานการผลิต ล้วนแต่เป็นสินค้าจากบริษัทห้างร้านของต่างชาติที่เข้าไปอาศัยค่าแรงถูกๆ ในการผลิต หาใช่เป็นของเจ้าของประเทศเหล่านั้นเองไม่

เพราะประเทศฐานผลิต จะได้เพียงค่าแรงราคาถูกๆ และมลพิษที่ถูกทิ้งไว้เท่านั้น แต่ส่วนต่างราคาสินค้า (Surplus Value) ล้วนแต่เป็นของบริษัทห้างร้านในประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น

บางประเทศไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศระดับปานกลางได้ เนื่องจากติดปัญหาคุณภาพประชากรและการคอรัปชั่น ประเทศเหล่านั้นก็จะย่ำอยู่กับที่ เพื่อเป็นฐานการผลิตราคาถูกให้นายทุนจากประเทศร่ำรวยไปเรื่อยๆ

ในอีกด้าน หากประเทศไหน สามารถพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศระดับปานกลาง (และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น) ประชากรในประเทศเหล่านั้นจะมีค่าแรงสูงขึ้น

บรรดานายทุนจากประเทศร่ำรวยก็จะเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ยากจน และมีค่าแรงถูกกว่า เพื่อไปแสวงหากำไรจากส่วนต่างต่อไป

ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องปรับตัวจากประเทศรับจ้างผลิตราคาถูก มาเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพด้วยตนเองแทน แต่การปรับตัวนั้นไม่ง่าย เพราะประชากรในประเทศนั้นๆ มักเคยชินกับการรับจ้างอย่างเดียว

ทำให้เกิดปัญหาคือ ค่าแรงและคุณภาพชีวิตของผู้คน ไม่สามารถกลับเป็นแรงงานราคาถูกได้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันจะขยับขึ้นไปเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าและการบริโภคด้วยตนเอง ก็ยังไม่ถึงขึ้น

เราเรียกสภาวะนี้ว่า กับดักรายได้ปานกลาง

ซึ่งเป็นสภาวะที่ประเทศไทยในเวลานี้กำลังเป็นอยู่ (มาเลเซียก็เป็นเช่นเดียวกัน) ส่วนเวียดนามนั้น ยังพึ่งเริ่มการเป็นประเทศที่ตั้งโรงงานราคาถูกเหมือนที่ไทยและมาเลเซียเป็นมาก่อนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วเท่านั้น

Thailand Development Report
กิตติธัช ชัยประสิทธิ์
ประเทศไทยอยากพัฒนา ไม่ใช่มองไปข้างหลัง(เวียดนาม) แต่ต้องมองไปข้างหน้า(สิงคโปร์) ประเทศไทยอยากพัฒนา ไม่ใช่มองไปข้างหลัง(เวียดนาม) แต่ต้องมองไปข้างหน้า(สิงคโปร์) Reviewed by admin on 4:02 AM Rating: 5

No comments