โจทย์หินเศรษฐกิจจีน 2017


บริหารเศรษฐกิจจีนนี่สุดแสนยากนะครับ!! ยิ่งปี ค.ศ. 2017 น่าจะเป็นปีที่โหดหินน่าดู

เหอฟาน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของจีน เคยอธิบายว่า ความยากของการบริหารเศรษฐกิจจีนอยู่ที่เป้าหมายทางเศรษฐกิจ 3 ข้อ มันขัดแย้งกัน อยากได้อย่าง ก็อาจต้องเสียอีกอย่าง แถมจีนรักพี่เสียดายน้องเสียด้วย

เป้าหมาย 3 ข้อ ที่แสนสำคัญ แต่อาจขัดแย้งกันได้ คือ 1.) การเติบโตของ GDP 2.) การสร้างงาน และ 3.) เสถียรภาพของระบบการเงิน

ทำไม 3 อย่างนี้จึงอาจขัดแย้งกันได้ครับ? เรามาดูที่เป้าหมายการเติบโตของ GDP ก่อน วิธีการที่จีนปั๊มตัวเลข GDP ให้โตปีละกว่า 10% มายาวนาน 30 ปี ก็คือ ใช้การลงทุนโดยรัฐบาลเป็นตัวนำ

รัฐบาลมักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหนัก รวมทั้งสาธารณูปโภคและโครงข่ายคมนาคม ข้อดีก็คือ ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศจีนโดยรวมร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว สาธารณูปโภคและโครงข่ายคมนาคม (รถไฟความเร็วสูง, สะพานยักษ์ ฯลฯ) ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของภาคธุรกิจ เชื่อมโยงเมือง เป็นรากฐานทางกายภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจขั้นต่อไป

แต่ข้อเสียของการพัฒนารูปแบบนี้ ก็คือ ไม่สามารถสร้างงานได้อย่างทั่วถึง เพราะภาคอุตสาหกรรมหนักเป็นภาคการผลิตที่ใช้ทุนเข้มข้น ไม่ต้องการจำนวนแรงงานมาก (จึงมีคำกล่าวว่ารัฐบาลจีนรวย แต่คนจีนจน) นอกจากนั้น ภาครัฐยังวางแผนยุทธศาสตร์ผิดหลายอย่าง ส่งผลให้มีการผลิตเกินตัวในหลายภาคอุตสาหกรรม ผลิตสินค้าเยอะเกินความต้องการของตลาด เช่น ในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ อุตสาหกรรมรถยนต์ ฯลฯ จนกลายเป็นปัญหาหนี้เน่าในระบบการเงินของจีน ส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ใครๆ ก็เลยบอกว่าขืนทำแบบนี้ต่อไปไม่มีทางยั่งยืน

ทีนี้ ถ้าจีนจะเปลี่ยนเป้าหมายมาเน้นการสร้างงาน ยุทธศาสตร์การพัฒนาก็ต้องเปลี่ยนมาพัฒนาภาคบริการ เพราะภาคบริการสามารถรองรับแรงงานได้เป็นจำนวนมาก ตรงกันข้ามกับภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เริ่มใช้เครื่องจักรมากกว่าแรงงาน ดังนั้น เราจึงมักได้ยินอยู่เสมอว่าจีนต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมาเน้นภาคบริการให้มากขึ้น และที่ผ่านมาสัดส่วนภาคบริการก็ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจนปัจจุบันอยู่ที่ราว 50% ของ GDP

แต่ข้อเสียก็คือ เมื่อสัดส่วนภาคบริการเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเติบโตของ GDP กลับจะลดต่ำลง ไม่มีทางสูงได้แบบสมัยก่อน สาเหตุเพราะในอดีต ภาคอุตสาหกรรมสามารถเพิ่มผลผลิตและยกระดับเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น GDP จึงโตได้ในอัตราที่สูง แต่ภาคบริการไม่ได้มีลักษณะที่จะสามารถยกระดับได้เรื่อยๆ แบบภาคอุตสาหกรรม แถมภาคบริการของจีนส่วนมากยังมีผลตอบแทนและผลผลิตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ

นอกจากนั้น การส่งเสริมภาคบริการยังจะส่งผลลบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะในการขอสินเชื่อ ธุรกิจในภาคบริการมักไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนเหมือนธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น เวลาโรงงานขอสินเชื่อ สามารถเอาที่ดิน เอาเครื่องจักรมาเป็นหลักประกันกับธนาคารได้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจในภาคบริการอย่างบริษัท E-Commerce ขอสินเชื่อ ย่อมไม่มีหลักประกันเป็นชิ้นเป็นอัน แน่นอนว่าถ้าประสบความสำเร็จก็คงยิ่งใหญ่เหมือนอาลีบาบา แต่ถ้าพังก็เหลือแค่อาลุงบ้าบ้าเท่านั้น ดังนั้น ความเสี่ยงในการปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจจึงสูงกว่าในอดีต

สุดท้าย ถ้าจีนเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะกลัวปัญหาหนี้เน่าจะระเบิดเป็นวิกฤติการเงิน ก็อาจส่งผลลบต่อการเติบโตของ GDP และการสร้างงานเช่นกัน

ช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ. 2009 นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ล้วนเน้นที่การควบคุมความเสี่ยง ลดการปล่อยสินเชื่อ และไม่ส่งเสริมให้ธุรกิจใช้หนี้สินเป็นเงินทุน (financial leverage) แต่จีนในช่วงนั้นกลับเดินหน้าให้ธนาคารปล่อยกู้อัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เพื่อรักษาการเติบโตของ GDP และป้องกันคนตกงาน ผลคือ บริษัทจีนต่างมีระดับ financial leverage ที่สูงมาก เงินลงทุนในจีนล้วนเป็นการก่อหนี้ซ้อนหนี้มาลงทุน ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของจีนแตะที่ 260% แล้ว

จีนเองจึงเหมือนลงจากหลังเสือไม่ได้ เพราะถ้าจีนใช้นโยบายควบคุมสินเชื่ออย่างรัดกุม ก็อาจเกิดเป็นวงจรอุบาทว์พาเศรษฐกิจล่มทั้งแผง เพราะเมื่อเงินลงทุนในระบบลดลง ย่อมทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ลดต่ำลง ราคาสินทรัพย์เองก็จะตกลง ซึ่งยิ่งทำให้ระบบการเงินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะหลักประกันต่างๆ ราคาตก ผลที่ตามมาเป็นลูกโซ่ ก็คือ ธุรกิจล้ม คนเริ่มตกงาน

ทั้งหมดนี้ คือ ความยากลำบากของการบริหารเศรษฐกิจจีน ถ้ารัฐบาลจีนเน้นเฉพาะเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งแบบสุดขั้ว สุดท้ายอาจเกิดวิกฤติขึ้นได้ ทางออกเดียวก็คือ ต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างสามเป้าหมาย ค่อยๆ ประคองให้เศรษฐกิจทรงตัว ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างพื้นฐานที่มั่นคงเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจรอบใหม่

ในการประชุมใหญ่เพื่อวางนโยบายในปีหน้าของทีมเศรษฐกิจพรรคคอมมิวนิสต์ จึงปรากฎคีย์เวิร์ดสำคัญ 2 คำ คือ คำว่า "เสถียรภาพ" และ "ปฏิรูป"

คำว่า “เสถียรภาพ” ด้านหนึ่งคือ พยายามรักษาการเติบโตของ GDP โดยตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ในปีหน้าที่ราว 6.5% (เป็นเป้าที่ต่ำสุดในรอบ 30 ปี แต่ก็ยังถือว่าเป็นการเติบโตในระดับที่สูง เมื่อพิจารณาจากระดับการพัฒนาของจีนในปัจจุบัน)

เครื่องยนต์เศรษฐกิจอย่างการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการส่งออกดูท่าจะใช้ไม่ได้แล้วในปีหน้า เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนร้อนแรงเกินไปแล้ว (ร้อนกว่านี้มีหวังฟองสบู่แตก) และภาคส่งออกก็ยังไม่ฟื้นตัว

ดังนั้น จึงเหลือเครื่องยนต์เพียงสองอย่างที่จะช่วยพยุงตัวเลข GDP จีนได้

อย่างแรกก็คือ การลงทุนโดยรัฐบาล ซึ่งเป็นกลเม็ดเดิม แต่ต่อไปนี้จะมีความท้าทายมากขึ้น เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นได้เคยลงทุนไปมากแล้ว ช่องว่างที่เหลือสำหรับให้ลงทุนมีน้อยลง ส่วนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องเลือกยุทธศาสตร์การลงทุนให้เหมาะสม ส่วนนโยบาย “ปฏิรูป” ที่ต้องทำควบคู่กันไปก็คือ การแก้ปัญหาการผลิตส่วนเกินและสินค้าเก่าที่คงค้างอยู่จากการลงทุนที่ผิดพลาดในอดีต

อีกเครื่องยนต์ที่เหลืออยู่ ก็คือ การลงทุนโดยภาคเอกชน ซึ่งน่าจะช่วยให้เกิดการสร้างงานและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หัวใจของเครื่องยนต์นี้คือ การ “ปฏิรูป” ด้านซัพพลาย (supply-side reform) ทีมเศรษฐกิจจีนมองว่า สาเหตุที่คนจีนไม่ใช้จ่ายเงิน ไม่ใช่เพราะไม่มีเงิน แต่เป็นเพราะผู้ประกอบการจีนยังไม่สามารถพัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคจีนได้ เช่น สินค้าไม่มีคุณภาพ (คนจีนจึงต้องซื้อของนอก) หรือผู้ผลิตจีนยังไม่สามารถผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่เปิดตลาดใหม่ (แบบที่การคิดค้น iPhone เปิดตลาดสมาร์ทโฟน) สรุปก็คือ ในจีนมีดีมานด์ แต่ไม่มีซัพพลาย ส่วนควรจะเป็นซัพพลายอะไรที่น่าลงทุนต้องขึ้นอยู่กับการมองหาโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการและลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ

“เสถียรภาพ” อีกเรื่องที่สำคัญ ก็คือ ระบบการเงิน จีนคงไม่รัดเข็มขัดในทันที เพราะไม่เช่นนั้น GDP คงพัง ธุรกิจคงล้มและคนตกงาน แต่คงใช้วิธีค่อยๆ ประคับประคองปัญหาหนี้เน่า และปัญหา “รัฐวิสาหกิจซอมบี้” (รัฐวิสาหกิจหนี้ท่วม) โดยเน้นการ “ปฏิรูป” ปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจ และควบคุมการก่อหนี้ใหม่ให้เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากขึ้น

การบริหารเศรษฐกิจเป็นเหมือน “ศิลปะ” เพราะต้องมองภาพใหญ่ทั้งหมดให้ดี เพราะนโยบายใดๆ ก็ตามมีข้อดีส่วนหนึ่ง แต่ก็มีข้อเสียในอีกส่วนหนึ่งเช่นกัน ทีมเศรษฐกิจจีนจึงต้องใช้วิธีรำมวยจีนรักษาสมดุลระหว่างเป้าหมายต่างๆ ที่อาจขัดแย้งกัน ถ้าไปสุดขั้วในเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง ผลกลับเป็นว่าเศรษฐกิจอาจพัง ขณะเดียวกัน ก็ต้องคอยประคับประคองไม่ให้ผลเสียที่เกิดจากนโยบายส่วนใดส่วนหนึ่งลุกลาม

ภารกิจโหดหินของจีนในปีใหม่ ด้านหนึ่งต้องประคับประคองให้มีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังโต ภาคการเงินยังไม่วิกฤติ (“เสถียรภาพ”) อีกด้านก็ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้เน่าและระเบิดเวลาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม (“ปฏิรูป”)

อาร์ม ตั้งนิรันดร
โจทย์หินเศรษฐกิจจีน 2017 โจทย์หินเศรษฐกิจจีน 2017 Reviewed by admin on 11:59 AM Rating: 5

No comments