คนอิตาลี vs คนเยอรมัน แล้วย้อนมองคนไทยและสังคมไทย
คนอิตาลี
1. คนอิตาลีมีความยืดหยุ่น เนื่องจากชีวิตประจำวันเผชิญกับความไม่แน่นอน ทำให้ต้องแก้ปัญหาอย่างยืดหยุ่น และมักต้องอาศัยเส้นสายคนรู้จัก
- ข้อดี คนอิตาลีมีน้ำใจ คุยด้วยสนุก ซื้อของได้ลดราคา มีคนเอาของโน่นนี่มาให้ใช้ฟรี อัธยาศัยดี ผูกมิตรเร็ว
- ข้อเสีย ความยืดหยุ่นก็แปลว่าไม่ค่อยมีระเบียบวินัย เป็นครั้งแรกในยุโรปที่ผมเห็นคนลุกเปลี่ยนที่นั่งบนเครื่องบินเป็นว่าเล่น การลัดคิวซื้อของแบบหน้าตาเฉย คนเดินเข้ามาชนแบบไม่ยอมหลบ และโทรศัพท์สาธารณะที่พร้อมจะกินเหรียญได้ทุกเมื่อ
2. คนอิตาลีแฟนตาซีมาก ๆ อารมณ์ศิลปิน และใช้อารมณ์ในเรื่องต่าง ๆ ค่อนข้างมาก
- ข้อดี ชีวิตเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ผ่อนคลาย ร้องเพลง เต้นรำ ยิ้มง่าย มีความสุข รักสวยรักงาม เสื้อสูทเข้ารูปของผู้ชายสวยและเนี้ยบมาก ๆ เป็นครั้งแรกที่มันกระตุ้นให้ผมเกิดความอยากใส่เสื้อผ้าสวย ๆ ขึ้นมา ถ้าอยู่อิตาลีนานกว่านี้อีกสักหน่อยผมจะสั่งตัดไว้ตัวหนึ่งจริง ๆ
- ข้อเสีย ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่ยอมทำ และจมอยู่แต่ในโลกแฟนตาซี ทำให้ไม่ลงมือปรับปรุงบ้านเมืองให้ดีขึ้นจริง ๆ จัง ๆ นัยว่าได้แต่ฝันว่ามันจะดีขึ้นได้เอง เรื่องนี้สะท้อนออกมาในงานวิชาการของอิตาลีด้วย คือ ทำอะไรตามใจตัวเองค่อนข้างมาก แฟนตาซีไว้ก่อน และไม่เน้นการใช้งานจริง
3. คนอิตาลีทำตัวตามสบาย อยากทำอะไรก็ได้
- ข้อดี ชีวิตสบาย ๆ อยากเดินผิวปากไปเรื่อย ๆ ก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไร ไม่ต้องแคร์ใคร ชีวิตอิสระเสรี
- ข้อเสีย เราเองก็โดนละเมิดสิทธิ์ในหลายเรื่องและหลายเวลาจนต้องทำใจ
คนเยอรมัน
1. คนเยอรมันมีระเบียบวินัยสูง เนื่องจากชีวิตประจำวันค่อนข้างมีความแน่นอน การแก้ปัญหาของชาวเยอรมันใช้กระบวนการที่แน่นอน ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เส้นสาย
- ข้อดี คนเยอรมันเชื่อถือได้ แน่นอน ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ และตู้โทรศัพท์สาธารณะแทบไม่มีวันจะกินตังค์คุณ นอกจากนั้นถึงจะซื้อของไม่เคยได้ลดราคาจากป้าย แต่การทอนตังค์ไม่มีคำว่าพลาด
- ข้อเสีย คนเหมือนเครื่องจักร เย็นชา เคร่งขรึม เคร่งครัด เป็นทางการ ตรงไปตรงมาตามขั้นตอนปฏิบัติที่แน่นอน หากเรื่องใดไม่มีขั้นตอนที่แน่นอนจะเริ่มรวนและไม่แน่ใจว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร
2. คนเยอรมันมุ่งไปที่การปฏิบัติ
- ข้อดี บ้านเมืองมีการปรับปรุงให้ดูดีอยู่เสมอ สิ่งของต่าง ๆ ทำงานได้ดี ไม่มีแบบที่ทิ้งไว้ให้พังอยู่นาน ๆ และมีการปรับปรุงประสิทธิภาพอยู่เสมอ เรื่องนี้สะท้อนออกมาในงานวิชาการด้วย คือ มีระเบียบเคร่งครัด ไม่ชอบให้ออกนอกลู่นอกทาง และเน้นการนำผลการวิจัยไปใช้จริง
- ข้อเสีย ขาดการออกแบบให้สวยงาม เน้นแต่ประโยชน์ใช้สอย ไม่มีศิลปะความอ่อนช้อย เสื้อผ้าใส่อย่างไรก็อย่างนั้นทั้งปีทั้งชาติก็ไม่มีใครว่าอะไรกัน ถ้ายังใส่ได้ก็เป็นอันใช้ได้
3. คนเยอรมันถือเรื่องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นเป็นเรื่องใหญ่
- ข้อดี คนเคารพสิทธิของผู้อื่นในเกือบทุกเรื่องและเกือบทุกเวลา ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย สะอาด เงียบ เป็นระเบียบ แทบไม่มีขโมย และแทบไม่มีการทำร้ายร่างกายกัน
- ข้อเสีย ต้องเกรงใจคนอื่นเกือบตลอดเวลา จะเดินผิวปากก็ไม่ได้ เพราะว่าจะไปรบกวนความสงบของคนอื่น
ถ้าคนเยอรมันมาอิตาลีครั้งแรกจะต้องปวดหัว เพราะว่าทุกอย่างดูเหมือนไร้ระเบียบไปหมด แต่ถ้าคนอิตาลีไปเยอรมันครั้งแรกก็ต้องเครียดหนักเพราะว่าทุกอย่างเคร่งครัดไปหมด
คนอิตาลีใช้ระบบอุปถัมภ์ ใช้เส้นสายคนรู้จัก ใช้ระบบพวกพ้อง ชอบใช้คำว่า Our brothers แต่ละคนต้องมีพวก ต้องสังกัดพวก ต้องพึ่งพาคนอื่น ชีวิตมีความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าอนาคตจะดีหรือร้าย ต้องผจญภัย ต่อสู้กับโชคชะตา คนฝากชีวิตไว้กับระบบไม่ได้ เพราะระบบไม่แน่นอน วันนี้อย่างพรุ่งนี้อย่าง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ต้องพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์อยู่เสมอ
คนเยอรมันใช้วิธีเรียกร้องสิทธิ์ หากเป็นสิทธิ์ที่ตนพึงได้รับต้องได้รับ หากไม่ได้รับจะโวยวายกับทางภาครัฐจนเจ้าหน้าที่ต้องมาจัดการให้ แต่ถ้าไม่ใช่สิทธิ์ที่จะได้ ถึงทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะได้มา ด้วยเหตุนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เส้นสาย ไม่จำเป็นต้องมีระบบอุปถัมภ์หรือพวกพ้อง แต่ละคนสามารถเป็นอิสระได้จากคนอื่นอย่างสิ้นเชิง แล้วใช้ชีวิตอยู่กับระบบ ชีวิตมีความแน่นอน สามารถวางแผนได้ไปจนถึงแก่เฒ่า บ้างก็ว่ามั่นคงปลอดภัยดี บ้างก็ว่าน่าเบื่อไร้สีสัน
ดังนั้น ถ้าไปอิตาลีต้องรู้จักคนไว้ให้มาก ๆ ถ้าอยากได้อะไรให้ขอ ถ้าเป็นพวกเดียวกันหรือผลประโยชน์ลงตัวก็มักจะได้
ถ้าไปเยอรมันต้องรู้ระเบียบปฏิบัติ สิ่งใดถ้าเป็นสิ่งที่พึงจะได้อยู่แล้วหากขอก็จะได้แน่นอน แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่พึงจะได้ ถึงรู้จักกันดีแค่ไหนก็ขอไม่ได้ และการขอในสิ่งที่ไม่ควรได้รังแต่จะทำให้เสียมิตรภาพ การคอรัปชั่นในเยอรมันจึงทำได้ยากมาก เพราะว่าคนอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ค่อยอยากร่วมมือด้วยถ้ารู้ว่ามันผิด
การจะเปลี่ยนให้คนอิตาลีกลายมามีนิสัยแบบคนเยอรมัน แทบไม่มีทางเป็นไปได้ ผมจินตนาการไม่ออกว่า ประเทศอิตาลีจะกลายเป็นประเทศที่มีความเคร่งครัด คนใช้ชีวิตอยู่กับระบบ แต่ละคนแยกจากกันเป็นอิสระส่วนตัว และทำให้ชีวิตประจำวันมีความแน่นอนสูงได้อย่างไร นอกจากจะโดนสาปให้กลายเป็นเครื่องจักรกันทั้งประเทศ
ผมก็ไม่เห็นทางที่คนเยอรมันจะหลุดพ้นออกมาจากการใช้ชีวิตกับระบบ หากวันไหนระบบรวน ทั้งประเทศก็จะรวนไปหมด ผู้คนจะโวยวายถึงความไม่มีเสถียรภาพของระบบ และเรียกร้องให้เสถียรภาพกลับคืนมาให้เร็วที่สุด ระบบที่ไม่มีเสถียรภาพก็เท่ากับทำให้คนเยอรมันเหมือนต้องคำสาปให้เกิดความโกลาหลอลหม่านไปทั่ว
ผมก็มองไม่เห็นทางที่จะเปลี่ยนให้คนไทยกลายมีนิสัยเป็นแบบคนเยอรมัน คนไทยก็เป็นคนไทยอยู่อย่างนี้ เราก็มีน้ำใจแบบของเรา ทำอะไรตามใจบ้างนิดหน่อย เคารพสิทธิ์คนอื่นนิดหน่อย ละเมิดกันบ้างก็มี ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป ใช้พวกพ้องช่วยเหลือกัน พวกใครก็พวกใคร ถ้าพวกเดียวกันมาขอก็ต้องคิดละ จะปฏิเสธไปทันทีก็คงไม่ได้ เรื่องการเกื้อกูลอุปถัมภ์กันมีมาแต่ไหนแต่ไร เราไม่มีทางทำให้มันหายไปได้ หากหายไป คนไทยก็คงไม่ใช่คนไทยแล้ว คงเหมือนต้องคำสาปให้กลายเป็นเครื่องจักร
ก่อนผมเดินทางไปอิตาลีผมไม่คิดอย่างนี้ ผมคิดว่าคนไทยสามารถมีระเบียบวินัยแบบคนเยอรมันได้ แต่เมื่อไปเห็นคนอิตาลีมา ผมเข้าใจโลกนี้มากขึ้น และเข้าใจคนบนโลกนี้มากขึ้น คือ คนอิตาลีเขาก็เป็นแบบอิตาลี คนเยอรมันเขาก็เป็นแบบเยอรมัน และคนไทยก็เป็นแบบคนไทย ไม่สามารถทำให้เหมือนกันได้ และไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะแต่ละชาติต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งในวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่ต่างกันออกไป ไม่มีชนชาติใดที่ดีเลิศจนไม่มีจุดอ่อน และไม่มีชนชาติใดที่ด้อยจนไม่มีข้อดีอะไร
การเดินทางไปหลาย ๆ ประเทศจึงเปิดโลกทัศน์ให้ผม และผมคิดว่าข้อค้นพบจากทริปอิตาลีเรื่องนี้ ทำให้ทริปนี้คุ้มค่ามากสำหรับชีวิตผม
ผมมองโลกอย่างที่มันเป็น มองคนบนโลกอย่างที่ทุกคนเป็น และไม่พยายามหลอกตัวเองว่าเราเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้ หากแต่พยายามจะดึงข้อดีหรือจุดแข็งของวัฒนธรรมนั้น ๆ มาใช้ประโยชน์ให้ได้เต็มที่มากกว่า และพยายามป้องกันไม่ให้จุดอ่อนมาสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น ผมว่าความเข้าใจอย่างนี้น่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาบ้านเมือง มากกว่าที่จะพยายามเปลี่ยนให้คนไทยต้องกลายไปเป็นคนเยอรมัน ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ และไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น เพราะเมืองไทยย่อมเจริญได้แบบไทย ๆ แบบที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ทำอย่างไรให้เราคนไทยเดินหน้าไปได้เรื่อย ๆ เสริมสร้างค่านิยมที่ดีทีละนิด ๆ และพยายามเบนความสนใจของเยาวชนให้เข้ารูปเข้ารอยไปในทางที่ถูกที่ควรมากขึ้นทีละนิด ๆ แนวคิดอย่างนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับสังคมไทย
แต่เราไม่มีทางไปถึงจุดที่คนเยอรมันเป็น เราไม่มีทางที่จะไปถึงจุดที่ไม่มีระบบอุปถัมภ์ และเราไม่มีทางไปถึงจุดที่ไม่มีคอรัปชั่น เพียงแต่เราลดได้ ปรามได้ สร้างกลไกในการป้องปรามและปราบปราม เราบั่นทอนกำลังของการใช้เครือข่ายพวกพ้องในทางไม่ดีไม่สุจริต พยายามให้คนร่วมมือน้อยลงในการทำผิดหรือปกป้องคนผิด
การสลายเครือข่ายคนกระทำผิด และการสร้างเครือข่ายของคนทำประโยชน์ จะเป็นหนทางที่จะทำให้เมืองไทยพัฒนาได้ เพราะในเมื่อเราใช้ระบบพวกพ้องเครือข่าย เราก็ต้องมุ่งสร้างหรือทำลายไปตรงที่เครือข่าย ไม่ใช่สร้างระบบที่จะป้องกัน เพราะระบบถึงจะดีแค่ไหน หากเครือข่ายช่วยกันแทรกแซงระบบย่อมทำให้ระบบทำงานไม่ได้
หากเครือข่ายของผู้กระทำผิดใหญ่กว่าหรือมีอิทธิพลมากกว่าเครือข่ายของคนทำประโยชน์ก็ถือว่าประเทศไทยโชคร้ายไป ถ้าฝ่ายทำความดีไม่รวมพลังกัน และไม่สามารถสลายกำลังของฝ่ายทำไม่ดี ก็เท่ากับว่ายอมรับที่จะอยู่ในสังคมที่ไม่ดี ก็จำเป็นต้องยอมรับกติกาของคนไม่ดี ความเดือดร้อนวุ่นวายก็จะตามมาแก่บ้านเมืองของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การคอรัปชั่นก็จะทำได้อย่างไม่มีใครว่ากล่าว เพราะแต่ละคนเป็นใจให้กันและปกป้องกันเมื่อมีการตรวจสอบ คนไทยก็จะจ่ายภาษีไปฟรี ๆ โดยไม่ได้อะไรที่เป็นบริการสาธารณะดี ๆ คืนกลับมา
หากเครือข่ายของผู้ทำความดีใหญ่กว่าคนทำไม่ดี การคอรัปชั่นก็จะน้อยลง เพราะว่าคนต่อต้าน ไม่มีใครคอยปกป้อง รู้ถึงไหนก็โดนต่อต้านและไล่ล่าถึงนั่น แบบนี้ประเทศไทยก็จะเดินหน้าไปสู่ค่านิยมที่ดีได้
เมืองไทยจึงไม่ได้อยู่ที่ระบบ เมืองไทยอยู่ที่เครือข่าย และอยู่ที่การสร้างหรือทำลายเครือข่าย
คมสัน สุริยะ
คนอิตาลี vs คนเยอรมัน แล้วย้อนมองคนไทยและสังคมไทย
Reviewed by admin
on
8:23 PM
Rating:
No comments