มอง 50 ปี “อาเซียน” อดีตและอนาคต


ปี 2560 เป็นปีที่อาเซียนก่อตั้งขึ้นครบ 50 ปี เป็น 50 ปีที่อาเซียนได้ทำประโยชน์ให้กับคนไทย และเป็นมรดกที่ไทยได้ให้กับภูมิภาค ปัจจุบันอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ไม่ใช่จีน สหรัฐ หรือญี่ปุ่น นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจากอาเซียนยังเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนไทยมากเป็นอันดับแรกด้วยเช่นกัน ในแง่ผลประโยชน์ที่ไทยได้จากอาเซียนนั้นเห็นได้ชัด แต่แน่นอนว่าสำหรับไทย อาเซียนเป็นมากกว่าผลประโยชน์ทางการเงินหรือเศรษฐกิจ

50 ปีที่ผ่านมา อาเซียนค่อยๆ สร้างกฎระเบียบในภูมิภาค (Regional Order) มีความเข้าใจตรงกันว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ แม้บางคนจะบอกว่าหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอาเซียนเป็นสิ่งที่ล้าหลัง แต่ถ้าไม่มีหลักการนี้อาเซียนก็ไม่เกิด ภูมิภาคก็ยังอาจจะทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ แต่ขณะนี้ทุกประเทศลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แม้จะยังมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะสู้รบกันเหมือนในอดีตก่อนหน้านี้

เมื่อภูมิภาคมีกฎระเบียบร่วมกันก็มีความมั่นใจที่จะพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาบุกรุก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญของอาเซียน คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดคือไม่หวาดระแวงกัน เพราะถ้าไม่มีบรรยากาศเช่นนี้ บรรยากาศของการพัฒนาประเทศ ตลาดที่มีฐานการผลิตเดียวก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ แม้แต่เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ที่เป็นข้อเสนอของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น ซึ่งบรรยากาศที่นำมาสู่สิ่งเหล่านี้ใช้เวลาพัฒนามาเป็นสิบๆ ปี

หลังเกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ จึงนำไปสู่แนวคิดว่าจะมีกฎบัตรอาเซียนขึ้น เพราะจากพื้นฐานด้านความมั่นคงทางการเมืองและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจจึงนำไปสู่การมีกฎบัตรร่วมกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่นักธุรกิจจะมาลงทุนในภูมิภาคโดยมีเพียง ASEAN Way ทั้งนี้แนวคิดของกฎบัตรอาเซียนคือการสร้างประชาคมที่มีกฎระเบียบพื้นฐานร่วมกัน สร้างนิติฐานะให้กับอาเซียน และทำให้อาเซียนสามารถเร่งการดำเนินการในมิติต่างๆ ต่อไปได้ จนมาถึงขณะนี้ที่อาเซียนก่อตั้งขึ้นครบ 50 ปี

ความร่วมมือมีครบทุกมิติ มีการขยายความร่วมมือในสาขาต่างๆ และการประชุมในระดับรัฐมนตรีด้านอื่นๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

ต้องชื่นชมว่า 50 ปีที่ผ่านมาอาเซียนเป็นพื้นฐานที่ดีในระดับหนึ่งที่สร้างความร่วมมือหลากหลายสาขา ซึ่งหลายอย่างก็ส่งผลในทางบวกต่อชีวิตคนไทย ถ้าไม่มีอาเซียนก็ไม่มีอาฟต้า การค้าขายก็จะทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ผลประโยชน์ที่เราได้รับค่อยๆ พัฒนาจนบางครั้งเราไม่เห็น ไม่ได้ตระหนัก เพราะอาเซียนไม่ใช่องค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบตูมตาม แต่ค่อยๆ ทำ เพราะทุกๆ เรื่องต้องใช้ฉันทามติและใช้เวลา

อย่างไรก็ดีในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างก้าวไปเร็วขึ้น วิกฤตการณ์ต่างๆ ก็เกิดเร็วขึ้นด้วย สิ่งต่างๆ ในโลกก็กระทบกับอาเซียนมากขึ้น ดังนั้นเราต้องผสมผสานจุดเด่นเข้าด้วยกัน ไม่เช่นนั้นเราจะสูญเสียความเป็นผู้นำเพราะโลกปัจจุบันมีการแข่งขันให้มากขึ้น รวมกับการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ จีนและสหรัฐอาจมีการงัดข้อกันมากขึ้น เราต้องวางตัวให้ดี และที่ดีที่สุดคืออาเซียนต้องเข้มแข็ง แม้รู้ว่าหลายประเทศจะใช้นโยบายแบ่งแยก เราสามารถจะสนิทกับประเทศมหาอำนาจได้ แต่หลักการคืออาเซียนต้องรวมตัวกัน

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา อาเซียนเดินมาไกลหรือไม่

คิดว่าอาเซียนมาไกลมากแล้ว เมื่อครั้งที่ผมรับราชการใหม่ๆ ยังคิดว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คงต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ไม่เคยคิดเลยว่าจะเห็นกัมพูชา ลาว และเวียดนาม สนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน หรือกระทั่งพม่าที่จะมาขอเข้าร่วม ทั้งยังทำหน้าที่ประธานอาเซียนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ต้องไปไกล เอาแค่ 10 ปีที่แล้วก็ยังพูดกันไม่ได้ เป็นเหมือนสิ่งต้องห้าม แต่พอมีกฎบัตรอาเซียนก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ไอชาร์) ขึ้นมา แม้ส่วนใหญ่จะมาจากภาครัฐยกเว้นไทยและอินโดนีเซีย แต่ก็ยังพูดกันได้ ดังนั้นอาเซียนเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา

อะไรเป็นอุปสรรคของการสร้างประชาคมอาเซียน

เป็นเรื่องปกติในทุกองค์กร อาทิ สหภาพยุโรป ที่เมื่อมีการเติบโตมากขึ้นควบคู่กับการต้องรับมือกับปัญหาที่หลากหลายมากขึ้น เป็นไปไม่ได้ที่จะมีท่าทีร่วมกันในทุกเรื่อง แต่จะบริหารจัดการความแตกต่างและความซับซ้อนในเรื่องต่างๆ อย่างไรที่จะรักษาเอกภาพของอาเซียนต่อไป แต่จะอย่างไรก็ตาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มีทรัพยากรมากมาย เห็นได้จากในปี 2559 ที่ผ่านมา ผู้นำอาเซียนมีการประชุมสมัยพิเศษกับผู้นำประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่ผู้นำสหรัฐในช่วงต้นปี กลางปีไปประชุมกับผู้นำรัสเซีย และปลายปีหารือกับผู้นำจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศมหาอำนาจต่างเห็นแล้วว่าต้องซื้อใจและโน้มน้าวให้อาเซียนเป็นพวก

ขณะนี้อาเซียนได้กลายเป็นเวทีที่ชาติมหาอำนาจจะมาแข่งขันกันมากขึ้น โจทย์คือเราจะใช้ประโยชน์จากตรงนี้อย่างไรเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของอาเซียน และจะส่งเสริมรวมถึงใช้ประโยชน์จากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอยู่อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) หรือการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราพูดกันมานานแล้ว แต่ขณะนี้เห็นความเร่งด่วนมากขึ้น

หนึ่งปีที่ผ่านมาของประชาคมอาเซียนเป็นอย่างไร

กระทรวงการต่างประเทศบอกเสมอว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงในทันที เพราะการเตรียมการต่างๆ มีการดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอดและยังคงทำต่อเนื่องกันไป เพียงแต่เมื่อเราก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็เท่ากับทุกประเทศสมาชิกมีพันธกรณีร่วมกันที่จะทำให้ความร่วมมือลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความร่วมมือต่างๆ ของประชาคมอาเซียนจะเห็นได้ชัดจาก ?วิสัยทัศน์อาเซียน 2025? ที่ผู้นำอาเซียนได้ให้การรับรองไป ซึ่งก็มีสิ่งที่เป็นเป้าหมายของไทยอยู่ในนั้นทั้งหมด ไม่ว่าการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและต้องเป็นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การมีธรรมาภิบาล การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการส่งเสริมการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี ไปจนถึงการเน้นย้ำถึงความสำคัญของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ว่าเป็นกลไกที่ได้รับการรับรองโดยอัครภาคีผู้ทำสัญญา

1 ปีที่ผ่านมาของประชาคมอาเซียน ในส่วนของเสาการเมืองก็มีการดำเนินการตามหลักการที่ได้กล่าวมาแล้ว ในส่วนของไทย โดยที่เราเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ตรงกลางและเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค หากไม่มีระบบคุ้มกันที่ดีก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องอาชญากรรมข้ามพรมแดนต่างๆ ไปจนถึงโรคระบาด รัฐบาลจึงได้พยายามจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกลไกที่จะรองรับการจัดการกับปัญหาชายแดนของทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและข่าวกรองต่างๆ เมื่อเกิดอะไรขึ้นทุกประเทศควรต้องรับทราบข้อมูลพร้อมๆ กัน เพราะการวางมาตรการป้องกันผลกระทบที่เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างกันถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

สำหรับเสาเศรษฐกิจซึ่งมีความสำคัญมาก เป้าหมายของเราคือจะทำอย่างไรที่จะให้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ประสบผลสำเร็จ และได้รับการสนับสนุนต่อยอดในอาเซียนเพื่อก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ถ้าเราอยากขับเคลื่อนและได้ประโยชน์จากความตกลงต่างๆ เราก็ต้องมีความพร้อม ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) มีบทวิเคราะห์ว่า ถ้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมตัวได้จริง ภายในปี 2050 เศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ปัญหาคือความตกลงมีอยู่ แต่จะปฏิบัติได้ตามแผนหรือไม่

สำหรับเสาสังคมและวัฒนธรรมก็มีความร่วมมือในหลายมิติและจะมีการต่อยอดความร่วมมือต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชน อาทิ การบริหารจัดการกับภัยพิบัติ ระบบเฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดในภูมิภาค นอกจากนี้สิ่งที่อาเซียนกำลังเผชิญคือเรากำลังเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุยังคงมีบทบาทในสังคมอย่างแข็งขัน รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้พิการด้วย

คิดว่าขณะนี้ความรู้สึกหวาดกลัวต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนยังมีอยู่หรือไม่

ผ่านไป 1 ปี คิดว่าความรู้สึกเช่นนั้นไม่น่าจะมีแล้ว เพราะได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่หวาดกลัว อาทิ มีการเข้ามาแย่งงาน ไม่ได้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่อยากเห็นคือหากคนไทยและหน่วยราชการไทยอยากได้ประโยชน์จากประชาคมอาเซียนให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ให้เรียนภาษาอังกฤษ เพราะความตกลงของอาเซียนทุกฉบับใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางของอาเซียน ภาษายังคงเป็นปัจจัยและประเด็นหลัก เพราะไม่ว่าจะความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือการติดต่อกับผู้คนก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักทั้งสิ้น

สุริยา จินดาวงษ์
มอง 50 ปี “อาเซียน” อดีตและอนาคต มอง 50 ปี “อาเซียน” อดีตและอนาคต Reviewed by admin on 6:33 PM Rating: 5

No comments