ความท้าทายของกระทรวงการต่างประเทศในปี 2560


ปลัดกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงประเด็นที่เป็นความท้าทายของงานด้านต่างประเทศในปี 2560 รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ค้างคามาในอดีต ไปจนถึงการทำงานในอนาคตของกระทรวงเพื่อรับมือกับความเป็นไปของโลกในปีไก่

ในปี 2560 งานท้าทายของกระทรวงการต่างประเทศมีทั้งจากปัญหาดั้งเดิม อาทิ การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมด้านการประมง(ไอยูยู) และปัญหาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ไอเคโอ)

ในกรณีของไอเคโอ มีแนวโน้มที่ดีว่าเรามาถูกทาง เดือนพฤศจิกายนนี้น่าจะมีผลดี

ขณะที่ในเรื่องไอยูยู ท่านทูตวีรชัย พลาศรัย จะไปหารือกับฝ่ายอียูในปลายเดือนมกราคม คาดว่าในปีหน้าอียูจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ ที่ผ่านมาต้องถือว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็มีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก ประกอบกับอียูได้พูดถึงประเด็นสิทธิแรงงานซึ่งแต่เดิมไม่มี ทำให้เราต้องแก้ไขเรื่องแรงงานต่างด้าวและแรงงานบังคับ ซึ่งขณะนี้ไทยได้เข้าเป็นภาคีกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานในกรอบต่างๆ หลายกรอบแล้ว

สำหรับไทยเราทำเรื่องประมง ไอยูยูเพราะจะเป็นผลดีกับประเทศ เนื่องจากเป้าหมายสุดท้ายของไอยูยูคือ การทำประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยคนของเราในอนาคต แนวโน้มก็ไปในทิศทางที่ถูกต้องเช่นกัน แต่เราก็ยังคงต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

ในส่วนของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (ทิปรีพอร์ต) เราจะต้องส่งรายงานอีกครั้งในเดือนมกราคม 2560

กระทรวงการต่างประเทศร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องการเตรียมข้อมูล ซึ่งมีความก้าวหน้าไปพอสมควร จนถึงขณะนี้หากดูจากตัวเลขสถิติก็สนับสนุนการทำงานของเราว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น ปัญหาค้างคาที่มีอยู่ก็ล้วนแต่มีพัฒนาการไปในทางบวก

แต่ความท้าทายของไทยเกิดจากการที่เราเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในโลก เนื่องจากในปี 2559 ที่ผ่านมาการเมืองโลกและการต่างประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ตั้งแต่การลงประชามติเบร็กซิทเมื่อเดือนมิถุนายน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะมีผลอย่างมากต่อภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีนัยสำคัญต่อไทย

มองไปข้างหน้าในภูมิภาคอื่นๆ เราจะเห็นการเลือกตั้งในเยอรมนีในปลายเดือนกันยายน ขณะที่ฝรั่งเศสก็จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ผลการเลือกตั้งทั้งหมดจะทำให้เห็นถึงแนวโน้มของการเมืองโลกว่าจะไปทางกระแสไหน

นอกจากนี้ เราได้เห็นบทบาทของจีนที่สืบเนื่องมานานและมีความโดดเด่นอย่างมากในภูมิภาค เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงในยุโรปและสหรัฐก็จะกลายเป็นสมการใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ

เมื่อมองถึงประเด็นที่เป็นข้อกังวลหลักๆ ของโลก ปัญหากองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) และลิเบียก็ยังคงอยู่ต่อไป ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคง ทั้งหมดนี้กระทรวงการต่างประเทศต้องมานั่งพิจารณาบทบาทของเราว่าจะปรับตัวอย่างไร

เราพูดกันมาหลายปีแล้วว่า เมื่อยุโรปหมดพลัง ขณะที่สหรัฐที่จะมีการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดี ซึ่งน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้วย น้ำหนักของโลกน่าจะมาทางเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น

ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศ ทิศทางของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ คงไม่เอาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ไทยเราน่าจะใช้ประโยชน์จากจุดนี้มาเพิ่มความเข้มแข็งของเราในภูมิภาค โดยเฉพาะอาเซียนที่ต้องพยายามให้การเจรจากรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาเซป ซึ่งเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีของอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศคือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) สำเร็จโดยเร็วที่สุด

การขึ้นมาของทรัมป์น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยและอาเซียนที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้นำสหรัฐที่มีมุมมองและหัวใจที่เน้นในเรื่องอเมริกาต้องมาก่อน

ซึ่งหมายความว่าเขาต้องการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้าเพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับภาคเอกชนของสหรัฐ ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทยที่จะเข้าไปลงทุน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้นโยบายเรื่องต่างประเทศของทรัมป์ยังไม่ชัดเจน แต่จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ และคงมีการปรับความสัมพันธ์กับจีน เท่าที่ดูความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนไม่น่าจะเหมือนที่ผ่านมา

ถ้าเรามองว่าดุลอำนาจกำลังมาทางภูมิภาคนี้มากขึ้น ในแง่ที่ตั้งของไทยที่ถือว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราน่าจะใช้ตรงนี้ให้ไทยมีบทบาทในการพัฒนาร่วมไปกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม)

ซึ่งนโยบายของรัฐบาลไทยในประเด็นนี้ก็มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ขณะที่จีนก็มีปฏิสัมพันธ์กับเรามาก

ญี่ปุ่นก็สนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเรามากขึ้น

ในอนาคตเราน่าจะดึงจีน ญี่ปุ่น รวมถึงเกาหลีใต้ให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์และลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น เพราะจะช่วยสร้างความเป็นปึกแผ่นของไทยกับประเทศซีแอลเอ็มวี ซึ่งรัฐบาลก็เดินตรงนี้อยู่

ในปี 2562 ไทยจะรับหน้าที่ประธานอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง

ขณะนี้เราได้เริ่มต้นศึกษาพิจารณาประเด็นที่เห็นว่าเป็นเรื่องท้าทายที่จะเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนอาเซียนในช่วงที่เราเป็นประธานในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงการต่างประเทศกำลังสัมมนากับทุกภาคส่วนเพื่อจะพิจารณาว่าธีมหลักเราจะเน้นอะไร ที่แน่ๆ คือการสร้างความเข้มแข็งของอาเซียนให้มากขึ้น เน้นเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงและการพัฒนาในกลุ่มประเทศอาเซียน

นอกจากนี้ ในปี 2561 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS – แอคเมคส์) ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังร่าง ACMECS Master Plan ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแอคเมคส์เป็นความร่วมมือในส่วนของอนุภูมิภาค ประกอบด้วย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งก็น่าจะมีส่วนเสริมกันได้กับอาเซียนอยู่แล้ว

ขณะที่ในปี 2022 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) อีกครั้งหนึ่งด้วย

ดังนั้น มองไปข้างหน้าเราจะเห็นภาพความร่วมมือที่แข็งแรงมากขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งจะมีการดึงความร่วมมือกับประเทศต่างๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ในเรื่องที่เขามีจุดแข็ง อาทิ นวัตกรรม เข้ามาเสริม เราจะเห็นภาพรวมของเอเชียแปซิฟิกที่ไทยมีบทบาทตรงนี้

กระทรวงการต่างประเทศ นอกจากจะให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ เรายังมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจ ชี้แจง และสร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้

หลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม 2559 ต่างประเทศมองว่าไทยกำลังเดินไปตามโรดแมปที่รัฐบาลประกาศไว้ ดังนั้น ในเรื่องท่าทีของต่างชาติต่อการเมืองไทยก็มีทิศทางที่ดีขึ้น

การต่างประเทศจากนี้ไปจะยังรักษาความมีสมดุลที่ดีอาเซียนยังคงเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับนโยบายต่างประเทศของไทย แต่เราก็ต้องวางระยะให้ดีในความสัมพันธ์ทั้งกับจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย สหรัฐ และยุโรป

ในปี 2560 กระทรวงยังจะสานต่อการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสอีพีฟอร์เอสดีจีส์) อย่างต่อเนื่องต่อไป หลังจากที่ในปี 2559 ที่ไทยทำหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นที่ตระหนักรู้ในกรอบของสหประชาชาติแล้ว ปี 2560 เราจะทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น

นอกจากนี้ยังจะมีโครงการเผยแพร่ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่เยาวชนของประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้งอกงามออกไปในวงกว้างมากที่สุด

บุษยา มาทแล็ง
ความท้าทายของกระทรวงการต่างประเทศในปี 2560 ความท้าทายของกระทรวงการต่างประเทศในปี 2560 Reviewed by admin on 5:19 AM Rating: 5

No comments