จุดเริ่มต้นของวิกฤตในยูเครน และบทบาทของตะวันตกที่ให้การสนับสนุนทำรัฐประหาร



ความผิดพลาดของยานูโควิช

สืบเนื่องจากผมได้อ่านความคิดเห็นในบทความของผมช่วงหลังนี้ มีการถกเถียงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยูเครนมากขึ้น ผมเลยคิดว่าจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นวิกฤตในยูเครนช่วงปี 2013 - 2014 อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมานานพอสมควรแล้ว รวมถึงมีรายละเอียดมาก ถ้ารวบรวมรายละเอียดทั้งหมดจริงๆอาจเขียนหนังสือได้หลายเล่มเลย ดังนั้นตอนนี้ผมขอพูดถึงเฉพาะจุดที่ผมเห็นว่าสำคัญ และสื่อกระแสหลักไม่ค่อยกล่าวถึง

หนึ่งในประเด็นที่ผมย้ำอยู่เสมอว่ามีความสำคัญแต่สื่อหลักไม่กล่าวถึง (จริงๆแล้วคือจงใจไม่กล่าวถึง) คือบทบาทของตะวันตกที่ให้การสนับสนุนกลุ่มยูโรไมดันและนีโอนาซีทำรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิชที่มาจากการเลือกตั้ง

เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตในยูเครน ถ้าย้อนไปดูข่าวจะเห็นนักการเมืองทั้งสหรัฐฯและ EU ไปเสนอหน้าที่จัตุรัสไมดันกันเป็นทิวแถว และนางวิกตอเรีย นูแลนด์ก็ยอมรับว่าสหรัฐฯให้เงินสนับสนุน "การสร้างประชาธิปไตย" ในยูเครน (ปฏิวัติหลากสี) สื่อกระแสหลักจงใจตัดเหตุการณ์ตรงนี้ทิ้งไปเวลาเล่าภูมิหลังเหตุการณ์ ไปเริ่มเรื่องตอนที่รัสเซียผนวกไครเมียเท่านั้น แถมจงใจไม่อธิบายด้วยว่าทำไมไครเมียถึงไปรวมกับรัสเซีย สื่อต่างประเทศที่วันๆเอาแต่แปลข่าวจากสื่อหลักอย่างเดียวก็เอาข่าวที่ถูกตัดตอนไปให้คนอ่านต่อๆกันไปด้วย

แต่ก่อนจะไปโทษตะวันตกฝ่ายเดียว มาว่ากันที่ความผิดพลาดของประธานาธิบดียูเครนในขณะนั้นคือยานูโควิชกันก่อน ที่ส่งผลให้แผนการของตะวันตกประสบความสำเร็จ

ยานูโควิชทำผิดพลาดอย่างน้อย 5 ครั้งในการควบคุมสถานการณ์ที่จัตุรัสไมดัน แต่ละครั้งส่งผลให้สถานการณ์บานปลายขึ้นเรื่อยๆ

ความผิดพลาดครั้งแรกคือยานูโควิชปล่อยให้พวกปฏิวัติหลากสีรวมตัวยึดพื้นที่ใจกลางกรุงเคียฟได้ ถ้าเป็นรัสเซีย ตำรวจของรัสเซียจะไม่ปล่อยให้กลุ่มคนที่คิดจะมาชุมนุมผิดกฎหมายโดยไม่ได้รับอนุญาต (พวกปฏิวัติหลากสี) รวมตัวยึดพื้นที่ได้เด็ดขาด แกนนำจะโดนรวบก่อนเลย สถานที่สำคัญๆก็จะมีตำรวจไปคุมไว้หมด ผู้ชุมนุมก็ได้แต่มาเย้วๆอยู่สักพัก ทำอะไรต่อไม่ได้สุดท้ายก็ต้องแยกย้ายกลับบ้าน แต่ยานูโควิชปล่อยพวกนี้รวมตัวกันได้ แถมยังเจรจาโอนอ่อนตามผู้ประท้วงตลอดเพื่อสร้างภาพให้ตะวันตกพอใจ (แฟนเพจอาจไม่ทราบว่านักการเมืองยูเครนมีความสัมพันธ์กับตะวันตกทุกคน อย่างน้อยที่สุดก็ส่งลูกหลานไปเรียนหรือมีทรัพย์สินอยู่ในสหรัฐฯและยุโรป) พวกปฏิวัติหลากสีก็เลยรุกคืบ

ความผิดพลาดครั้งที่สองคือเมื่อตำรวจเริ่มปฏิบัติการช่วงแรกๆ จับแกนนำผู้ชุมนุมไม่ได้ และยังใช้กำลังกับคนทั่วไปด้วย ถ้าเป็นรัสเซีย ทุกครั้งที่ตำรวจรัสเซียออกปฏิบัติการจะมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะจับใคร เพราะเขามองว่าถ้าไม่มีแกนนำกับกลุ่มหัวรุนแรงที่คอยปลุกปั่นสร้างสถานการณ์แล้ว คนทั่วไปที่ออกมาชุมนุมก็ทำอะไรต่อไม่ได้ สักพักก็จะสลายไปเอง แต่ปฏิบัติการของตำรวจยูเครนนอกจากจะจับตัวแกนนำไม่ได้แล้วยังเอากระบองฟาดคนทั่วไปที่ออกมาชุมนุมด้วย เลยเข้าทางพวกปฏิวัติหลากสี

ความผิดพลาดครั้งที่สามคือยานูโควิชไม่กล้าใช้กำลังปราบปรามพวกปฏิวัติหลากสี เมื่อสถานการณ์เริ่มบานปลาย เกิดการปะทะกัน มีช่วงหนึ่งที่ตำรวจและหน่วยปราบจลาจล Berkut ไล่ต้อนพวกปฏิวัติหลากสีจนมุมแล้ว แต่ยานูโควิชไม่กล้าสั่งให้ปราบปรามเด็ดขาด เอะอะก็เจรจา ส่งผลให้สไนเปอร์ต่างชาติที่พวกปฏิวัติหลากสีเตรียมไว้ออกปฏิบัติการได้ สไนเปอร์สร้างสถานการณ์ยิงทั้งตำรวจและผู้ชุมนุมเสียชีวิต สถานการณ์ตอนนี้จึงควบคุมไม่ได้แล้ว

ความผิดพลาดครั้งที่สี่ เมื่อตำรวจคุมสถานการณ์ไม่ไหว ยานูโควิช
กลับไม่กล้าประกาศกฎอัยการศึก ให้ทหารออกปฏิบัติการเสียอีก สุดท้ายตำรวจก็ถอนกำลัง ปล่อยให้พวกปฏิวัติหลากสีรวมถึงนีโอนาซียึดอำนาจได้ ยานูโควิชหนีออกมาได้แบบทุลักทุเลเกือบเอาชีวิตไม่รอด (ยานูโควิชโดนสั่งเก็บเหมือนกัดดาฟี่)

ความผิดพลาดครั้งที่ห้า เมื่อยานูโควิชไม่กล้าใช้ตำรวจและทหารยูเครน ทางเลือกสุดท้ายคือใช้ทหารรัสเซีย ซึ่งปูตินก็ขออนุมัติจากรัฐสภาของรัสเซียเตรียมส่งทหารเข้าไปในยูเครนแล้ว อย่าลืมว่าตอนนั้นยานูโควิชยังเป็นประธานาธิบดี ถ้ายานูโควิชเข้าไปอยู่ในไครเมียหรือดอนบาส ตั้งฐานสู้กับพวกปฏิวัติหลากสี อนุมัติให้รัสเซียส่งทหารเข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์ ร่วมกับตำรวจและทหารยูเครน ก็จะจัดการพวกปฏิวัติหลากสีได้ (แน่นอนว่าสถานการณ์มาถึงขั้นนี้แล้วย่อมเกิดความสูญเสียมาก) แต่ยานูโควิชก็ไม่ทำ กลับหนีออกนอกประเทศไปเลย ทิ้งให้ไครเมียกับดอนบาสเอาตัวรอดเอง ซึ่งไครเมียกับดอนบาสก็เริ่มแยกตัวตอนนั้นแหละครับ


ตะวันตกกับเหตุการณ์ที่ไมดัน

ประเด็นที่ตะวันตกให้การสนับสนุนการประท้วงซึ่งนำไปสู่การจลาจลและรัฐประหารที่จัตุรัสไมดันจำนวนมาก ซึ่งช่วยยืนยันสมมติฐานของผมว่าสื่อกระแสหลักจงใจตัดเหตุการณ์นี้ทิ้งเวลาพูดถึงภูมิหลังของวิกฤตยูเครน ส่งผลให้คนจำนวนมากได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ในบทความนี้ผมเลยจะยกตัวอย่างบทบาทของนักการเมืองตะวันตกบางส่วนในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยใช้แหล่งข่าวเฉพาะจากสื่อตะวันตก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้ในขณะนั้นไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด ทำกันเปิดเผยมาก แต่เมื่อเหตุการณ์บานปลายสื่อกลับจงใจตัดเนื้อเรื่องตอนนี้ออก โยนความผิดให้รัสเซียฝ่ายเดียว

หนึ่งในสาเหตุที่ยานูโควิชไม่กล้าใช้กำลังปราบปรามกลุ่มปฏิวัติหลากสี ยูโรไมดันก็เพราะ EU คอยปกป้องพวกนี้ไว้นั่นเอง โดยคนที่มีบทบาทสำคัญในขณะนั้นคือนางแคทเธอรีน แอชตัน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายต่างประเทศของ EU เวลาฝ่ายไมดันเพลี่ยงพล้ำ นางก็จะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยูเครนในขณะนั้นห้ามใช้กำลัง ให้ใช้วิธีเจรจา ฯลฯ

https://www.telegraph.co.uk/…/Catherine-Ashton-calls-on-Ukr…

https://www.rferl.org/a/ukraine-protests-nula…/25197108.html

นักการเมืองสหรัฐฯหลายคนก็เดินทางไปกรุงเคียฟในช่วงเวลาดังกล่าว คนที่มีบทบาทมากที่สุดคือนางวิกตอเรีย นูแลนด์และนายจอห์น แมคเคน สองคนนี้ไปอยู่ในที่ชุมนุมของกลุ่มยูโรไมดันด้วย โดยนางนูแลนด์สร้างภาพเอาคุกกี้ไปแจกให้ผู้ชุมนุมพร้อมกับทูตสหรัฐฯประจำยูเครน เกิดวาทกรรม "คุกกี้ของนูแลนด์" ขณะที่นายแมคเคนไม่ได้แค่พบกับผู้ประท้วงเฉยๆ ยังไปขึ้นเวทีปราศรัยพร้อมกับแกนนำกลุ่มนีโอนาซีด้วย

https://www.cbsnews.com/…/us-victoria-nuland-wades-into-uk…/

https://www.theguardian.com/…/john-mccain-ukraine-protests-…

https://www.businessinsider.com/john-mccain-meets-oleh-tyah…

ตอนนั้นมีคนดักฟังโทรศัพท์ของนางนูแลนด์ หนึ่งในประเด็นที่นางนูแลนด์พูดในโทรศัพท์คือจะให้ใครเข้าร่วมรัฐบาลใหม่ของยูเครนบ้าง

https://www.bbc.com/news/world-europe-26079957

นายจอร์จ โซรอสก็เปิดเผยในรายการของ CNN ว่าเขาตั้งมูลนิธิในยูเครนก่อนสหภาพโซเวียตจะล่มสลาย ซึ่งมูลนิธิดังกล่าวยังดำเนินงานมาถึงปัจจุบันและมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ที่ไมดันด้วย

http://transcripts.cnn.com/TRANSCRIPTS/1405/25/fzgps.01.html

นี่เป็นตัวอย่างบทบาทของบุคคลสำคัญฝั่งตะวันตกในเหตุการณ์จัตุรัสไมดันซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของวิกฤตยูเครนซึ่งปัจจุบันสื่อกระแสหลักจงใจไม่กล่าวถึง ส่งผลให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าจุดเริ่มต้นวิกฤตยูเครนเกิดจากวันดีคืนดีรัสเซียเมาวอดก้าไปยึดไครเมียเสียเฉยๆ ซึ่งไม่เป็นความจริง

สรุปคือถ้าไม่มีการปฏิวัติหลากสีไมดันแต่แรก หรือการปฏิวัติหลากสีถูกปราบปรามได้ ก็จะไม่มีเหตุการณ์ในไครเมียและดอนบาส ซึ่งกรณีนี้ทั้งตะวันตกที่ให้การสนับสนุนพวกปฏิวัติหลากสี และยานูโควิชที่ล้มเหลวในการปราบปราม ต่างก็มีส่วนให้เกิดเหตุการณ์ในไครเมียและดอนบาส

การทูตและการทหาร Military & Diplomacy
จุดเริ่มต้นของวิกฤตในยูเครน และบทบาทของตะวันตกที่ให้การสนับสนุนทำรัฐประหาร จุดเริ่มต้นของวิกฤตในยูเครน และบทบาทของตะวันตกที่ให้การสนับสนุนทำรัฐประหาร Reviewed by admin on 2:44 AM Rating: 5

No comments