ยุทธศาสตร์ชาติและกราฟการท่องเที่ยวทางทะเล ตามขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ



แคมป์จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่องเกือบ 10 วันที่หาดบางแสน มาถึงวันสุดท้ายแล้วครับ ผมเลยอยากสรุปให้เพื่อนธรณ์ฟัง แม้อาจจะเต็มไปด้วยสาระ อีกทั้งยาวจนคนอ่านร้องจ๊าก แต่เชื่อว่าคงมีประโยชน์ครับ #ยุทธศาสตร์ชาติ #เทรนด์ทะเล

แม้ยุทธศาสตร์ที่ผมทำจะอยู่ในสายสิ่งแวดล้อมและเน้นทะเลเป็นหลัก แต่เราต้องดูสายอื่นด้วยว่าจะไปทางไหน โดยเฉพาะสายเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

เป้าหมายรวมด้านเศรษฐกิจ ภายในปี 2580 เราจะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 15,000 เหรียญ/ปี (ปัจจุบัน 8,200 เหรียญ/ปี)

หากอยากได้เช่นนั้น GDP ของไทยต้องโตเฉลี่ย 4.5-5% ความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆ ต้องสูงขึ้น

ความเป็นไปได้ดังกล่าวในระยะสั้น เราคงต้องหวังพึ่งทรัพยากรธรรมชาติ และควบคุมไม่ให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเกินไป

สำหรับการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ (การเรียนการสอน ฯลฯ) คงต้องว่ากันไปในระยะกลาง ระยะยาว และระยะยาวมาก เพราะคงไม่มีใครสามารถทำให้คนไทยเก่งขึ้นได้ในพริบตา

สมัยก่อนเวลาวางแผนเร่งการเติบโตเศรษฐกิจ เราดูเฉพาะดัชนีด้านเงินทอง แต่ปัจจุบัน โลกเปลี่ยนแล้วครับ เราต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน

เพราะตอนนี้โลกมีการจัดแรงค์ของอันดับด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น SDGs ขยะทะเล ฯลฯ ซึ่งนับว่าจะมีมาตรฐานพวกนี้มากขึ้นทุกที

ความเข้าใจกลไกของเศรษฐกิจสีเขียวและสีน้ำเงิน ในยุคนี้จึงจำเป็นสุดๆ

ปัญหาคือ Cross Cutting Issue ด้านนี้ไม่ค่อยมีผู้ชำนาญ ก็เลยนำมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ตามประสานักอนุรักษ์ที่ดันเกิดและอยู่ริมถนนเอกมัยมาตลอดชีวิต (ไม่ย้ายเฟ้ย ตารางวาละเท่าไหร่ก็ไม่ขาย 555)

คราวนี้เรามาดูกิจการทางทะเล
ผมลองพลอตกราฟของตัวเองขึ้นมา เพื่อดูสิว่าเทรนด์ทะเลไปทางไหน

กราฟดังกล่าวพลอตจากความรู้และประสบการณ์ส่วนตัว แต่มูลค่าเศรษฐกิจสีน้ำเงินก็มหาศาล สามารถเป็นตัวดันหรือตัวฉุดเศรษฐกิจประเทศโดยรวม

ตัวอย่างแสนง่าย กรณีเรือฟีนิกซ์เพียงลำเดียว เกิดผลกระทบในวงกว้าง กระเทือนทั้งประเทศจนถึงเชียงใหม่และพื้นที่อื่นๆ

เราเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2500-10 ก่อนที่จะเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างจริงจัง สังคมไทยอยู่กันอย่างเรื่อยๆ มาเรียงๆ (ดูกราฟประกอบนะจ๊ะ)

เมื่อเราเริ่มพัฒนา กราฟตัวแรกที่เริ่มพุ่งคือประมง เพราะสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรมาแต่ดั้งเดิม

การเข้ามาของประมงพาณิชย์ ส่งให้กราฟการเติบโตด้านประมงพุ่งกระฉูด เราจับปลาเป็นว่าเล่น

จับกันจนเกินศักยภาพการผลิตของทะเลไทยที่มีจำกัด ตัวกราฟจึงเริ่มเข้าสู่ระยะปลาย S ตั้งแต่ปี 2530+

แม้มูลค่าสัตว์น้ำจะมีเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าศักยภาพของทะเลไทยมีแค่นี้ เราจับปลาเพิ่มกว่านี้ไม่ได้

หากจะออกไปแข่งกับเขาในทะเลสากลเพื่อจับปลาทูน่า เราก็เฟลมาแล้วหลายหน

เพราะฉะนั้น สำหรับการประมง Blue Economy ของไทยบอกไว้ว่า เราพยายามรักษาระดับคงเดิมไว้ โดยควบคุมการประมงให้เป็นไปตามศักยภาพ แต่ต้องพยายามกระจายรายได้ไปให้ประมงพื้นบ้าน

คราวนี้มาดูการเพาะเลี้ยงกันบ้าง กราฟพุ่งกระฉูดช่วงปี 2520+ เพราะช่วงนั้นเราเลี้ยงกุ้งเป็นการใหญ่

เราเลี้ยงโดยถล่มป่าชายเลนของชาติไปนับล้านไร่ จนไทยส่งออกกุ้งติดลำดับแรกๆ ของโลก

แต่สิ่งที่ไม่ได้คำนึงถึงคือผลกระทบที่ตามมา ป่าชายเลนหายไปเพียบ ส่งผลถึงสัตว์น้ำในทะเลลดลง ชาวประมงพื้นบ้านอยู่แทบไม่ได้

มลพิษที่สะสม สิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลง ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา จนท้ายสุด การเลี้ยงกุ้งลดลง จนอยู่ในระดับเหมาะสม แต่ก็ต้องแลกกับผืนป่าชายเลนที่หายไปมหาศาล

เมื่อมาคิดถึงยุคนี้ เรามีข้อตกลงปารีส ทุกประเทศต้องลดก๊าซเรือนกระจก เราต้องมาปลูกป่าใหม่ เสียเงินไปเยอะแยะ เพราะเราทำลายป่าชายเลนที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกไปหมดแล้ว

ตีง่ายๆ ว่าป่าหายไปล้านไร่ ป่าชายเลนดูดซับก๊าซดีกว่าป่าบก 3 เท่า (อย่างน้อย) หมายถึงป่าที่เราสูญเสียไปในคราวนั้น เราต้องมาปลูกป่าบกใหม่ 3 ล้านไร่ เพื่อดูดก๊าซเรือนกระจกในอัตราเดียวกัน

และปลูกป่าปีสองปี มันไม่ได้ครับ ต้องนานกว่านั้นเยอะ

ประเทศไทยจึงต้องเดือดร้อนกับการลงทุนเพิ่มในปัจจุบัน เพราะความไม่ยับยั้งชั่งใจในอดีต

แม้การเพาะเลี้ยงแบบบูทซ์จะหมดไป แต่ผมไม่คิดว่าเราจะเข้าช่วงปลายของ S เหมือนการประมงแบบจับปลา (ดูกราฟนะจ๊ะ)

เพราะ S ด้านการเพาะเลี้ยงยังพอไปต่อได้ เนื่องจากเรามีตลาดนักท่องเที่ยวขนาดยักษ์ เราไม่ต้องเสียค่าโลจิสติกส์ในการส่งออก เพราะคนจะเข้ามากินสัตว์น้ำเราถึงในบ้าน

เพียงแต่ว่า เราต้องเลือกเลี้ยงสัตว์น้ำมูลค่าสูง สัตว์อันเป็นที่ต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของต่างชาติเที่ยวไทย

กำหนดเป้าหมายให้ชัด เป็นสัตว์น้ำมูลค่าสูงไม่กี่ชนิด พัฒนาวิธีเลี้ยงให้สะอาดและครบวงจร เพราะตอนนี้เราต้องพึ่งพาลูกสัตว์น้ำจากต่างประเทศค่อนข้างมาก (รู้มั้ยว่าลูกกุ้งมังกรส่งมาจากแอฟริกาโน่นแน่ะ)

ผมเชื่อว่ากรมประมงคงวางแผนไว้แล้ว โดยยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นตัวช่วยหนุน

เพราะการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ราคาแพงให้ครบวงจร ต้องใช้งบเยอะ ไม่ใช่ลองเพาะไปเรื่อยๆ เหมือนในอดีตแล้วมันก็ไม่สำเร็จสักที

หากเราทำได้ กราฟเพาะเลี้ยงจะเข้าสู่ช่วง S สอง แม้ไม่กระฉูดอย่าง S แรกที่เน้นปริมาณ แต่หากคิดถึงความคุ้มค่าด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นับว่าคุ้มกว่าเยอะ

ยังหมายถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ที่มีตลาดใหญ่อย่างเมืองจีนรอรับอยู่

สำหรับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแบบนำเข้าส่งออก เช่น ปลาทูน่า คงขยายตัวไปเรื่อยตามเศรษฐกิจโลก จะบูทส์อัพก็คงไม่ได้ แต่จะพ่ายแพ้ก็คงไม่ใช่ เพราะโลเคชั่นของเราได้เปรียบ และเริ่มต้นมานานแล้ว

อีกอย่างที่เราอาจไปได้คือ BioEconomy หรือเศรษฐกิจฐานชีวภาพ โดยในทะเลยังมีเรื่องไม่รู้อยู่อีกเยอะ

ยุทธศาสตร์ชาติจึงจริงจังในด้านนี้ ทั้งการทำ BioBank ทำ R&D ต่อยอด ฯลฯ โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่ยังไงก็น่าจะขายได้ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ

มาถึงคลื่นลูกที่ 3 พลังงานจากทะเล อันหมายถึงแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติ

กราฟพุ่งชันในช่วงปี 2525+ นั่นคือยุคโชติช่วงชัชวาล เมื่อเรานำก๊าซมาเป็นพลังงานปั่นไฟฟ้า สร้างโรงแยกก๊าซมาเริ่มต้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

แต่กราฟนั้นเริ่มเข้าสู่ช่วงปลาย S เราใช้ก๊าซในอ่าวไปแล้ว 70%+ จะหวังกับสัมปทานรอบใหม่ก็ไม่ได้มาก

แหล่งก๊าซที่น่าจะมีเหลืออยู่คือเขตทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่ต้องพูดคุยเจรจากันอีกนาน

เพราะฉะนั้น กราฟเข้ามาถึงปลาย S และมีแต่ทรงกับทรุด เพราะเราต้องนำเข้าปิโตรเลียม เพื่อมาใช้ปั่นไฟ และใช้สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ข้อจำกัดในเรื่องนี้ ก็เหมือนการจับปลา จะยิ่งกว่าด้วยซ้ำ เพราะปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรที่หมดไป ต่างจากปลาที่ออกลูกหลานได้ทุกปี

มาถึงคลื่นลูกสุดท้าย คลื่นลูกที่ 4 การท่องเที่ยว


คลื่นลูกนี้มีมาตลอด แต่มาสปีดอัพช่วงหลัง เพราะเทคโนโลยีและโลจิสติกส์

เกาะสิมิลันอยู่ตรงนั้นตั้งนานแล้ว แต่สมัยก่อนนั่งเรือไป 6-7 ชั่วโมง กว่าจะถึงแทบกระอัก

สมัยนี้เรือเร็วติดเครื่อง 500-600 แรงม้า พุ่งถึงภายใน 1 ชั่วโมง

สมัยก่อนเครื่องบินไปภูเก็ตเป็นเครื่องดาโกต้าเก่าๆ ข้ามไปเกาะยังต้องใช้แพ (ผมทันยุคนั้นครับ เคยนั่งดาโกต้าไปภูเก็ต)

ไปเกาะเต่าต้องนั่งเรือนอนขนมะพร้าว ออกจากชุมพรสี่ห้าทุ่ม ถึงตอนเช้า

จนเกาะสมุยมีสนามบิน จนเกาะเต่ามีเรือเร็วพุ่งฉิว

ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14-15 ล้านคนที่ภูเก็ต 5 ล้านคนที่หมู่เกาะสมุย ไปบอกคนสมัยก่อน จ้างให้ก็ไม่เชื่อ

กราฟการท่องเที่ยวโตตลอด มาเร่งเครื่องหนักตอนปี 53 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตามปริมาณชนชั้นกลางของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่กราฟนี้กำลังมาถึงช่วงปลาย S Curve

แม้ยังไม่ปลายทันที แต่เริ่มเข้าสู่ยุคช้าลง ไม่ใช่เพราะข้อจำกัดด้านกลุ่มเป้าหมาย ยังมีคนจีนอีกเยอะที่มีตังค์ และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อจำกัดกลับเป็นทรัพยากร ไม่ว่าจะขยายสนามบินแค่ไหน ขยายรถไฟอย่างไร เน้นการท่องเที่ยวเรือสำราญแค่ไหน

เกาะของประเทศไทยก็มีแค่นี้ แนวปะการังก็มีแค่นี้

บทเรียนเรื่องป่าชายเลนกับนากุ้ง ผมรู้ดี เพราะเริ่มทำงานเร็วกว่าชาวบ้าน (ปี 3 ก็เป็นนักวิจัยได้เงินเดือนไปแต่งรถจีบสาวพาเลซแล้วฮะ)

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติ สิ่งที่มาเป็นอันดับแรกๆ คือ “การท่องเที่ยวทางทะเลตามขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ”

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผมไม่สามารถยอมให้เกิดเหตุการณ์เหมือนอดีตอีกแล้ว

เคราะห์ดีที่กระแสสังคมกำลังมา เพื่อนธรณ์ช่วยสนับสนุน เราจึงเห็นงานด้านนี้ของกรมอุทยานออกมาอย่างชัดเจน พีพี สิมิลัน ฯลฯ

เมื่อเกาะเต็ม คนก็ต้องหันไปที่อื่น จึงเป็นเวลาของแหล่งท่องเที่ยวรองและการท่องเที่ยวแบบอื่นๆ ที่ไม่เน้นธรรมชาติเพียงอย่างเดียว

ยังรวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งของเก่าและของใหม่

หากเราสามารถปรับตัวได้ กำหนดขีดความสามารถ กระจายนักท่องเที่ยว หาการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ เชื่อว่ากราฟจะต่อยอดไป S ช่วงที่สอง

ผมยังหวังถึงระบบใหม่ๆ ที่เสริมเทคโนโลยี ช่วยเจ้าหน้าที่รักษาทะเล เพราะเราจะไปหวังเพิ่มกำลังพล บอกตามตรงว่าฝันไป เพราะรัฐบาลยังไงก็ต้องลดข้าราชการ ลดรายจ่าย

มันเป็นเรื่องแน่นอน ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ เพราะเราเก็บภาษีมากขึ้นก็ลำบาก ทำให้งบประมาณในการลงทุนใหม่ๆ ไม่ค่อยมี

การตัดรายจ่ายส่วนบุคลากรจึงเป็นเรื่องเกิดแน่ และในยุค 4.0 จะเห็นเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท และยังหมายถึงการส่งต่องานบางอย่างให้เอกชนมารับผิดชอบ เพื่อลดภาระสวัสดิการและบำนาญในระยะยาว

การสร้าง S สองของการท่องเที่ยวทางทะเล ถือเป็นหัวใจหลักของยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นสายเศรษฐกิจหรือสายสิ่งแวดล้อม เราต้องดูให้ดีและพยายามไปด้วยกัน

แน่นอนว่ามันไม่ง่ายหรอก โดยเฉพาะใน 5 ปีแรกของภาวะปรับตัว

แต่ถ้าผ่านไปได้ ในอนาคตระบบอาจสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การรองรับนักท่องเที่ยวอาจเพิ่มขึ้นได้ในบางแห่ง โดยควบคุมพฤติกรรมให้เหมาะสมกับแหล่งท่องเที่ยวหนาแน่น

ผมหวังว่าการปรับตัวในช่วง 5 ปีแรกของท่องเที่ยวทะเลไทยจะเป็นไปด้วยดี และพยายามใส่โครงการ Flagship ต่างๆ ลงไปเท่าที่ทำได้

โดยเฉพาะการเก็บพื้นที่บางแห่งเป็นเขตสงวน เก็บไว้ให้ลูกหลานตัดสินใจบ้าง ไม่ใช่ให้คนรุ่นเราใช้จนหมด มันไม่แฟร์ต่อคนรุ่นต่อไปครับ

ทั้งหมดนี้คือยุทธศาสตร์ชาติและกราฟของอาจารย์ธรณ์ ถ้าให้เล่าจริง ยาว 3 ชั่วโมงยังพูดไม่จบ แต่เอาไว้แค่นี้ก่อน เพราะมันยาวจนเกินความเป็นเฟซไปมากแล้ว

สารภาพก่อนจบ ในเดือนพฤศจิกายน ผมต้องไปพูดที่นั่นที่นี่อยู่บ้าง เขาชอบขอบทความประกอบบรรยาย ผมเองก็ไม่มีเวลาเขียนให้ จึงกะว่าจะเอาเรื่องนี้แหละไปให้ บอกน้องว่าโหลดเอาเลยจ้ะน้อง จากเฟซพี่นี่แหละ

สำหรับเพื่อนธรณ์ที่อ่านฟรีถึงตอนนี้ เป็นบริการจากใจ

ขอบคุณที่โอ๋ๆๆ ปลอบๆๆ ในวันนั้นฮะ


ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ยุทธศาสตร์ชาติและกราฟการท่องเที่ยวทางทะเล ตามขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ ยุทธศาสตร์ชาติและกราฟการท่องเที่ยวทางทะเล ตามขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ Reviewed by admin on 9:42 PM Rating: 5

No comments